มิติหุ้น – GUNKUL กูรูคาดงบไตรมาส 2/62 พุ่งต่อเนื่อง หลัง COD โรงไฟฟ้า “คิมิตสึ” ในญี่ปุ่น ขนาด 40 MW ประเมินกำไรปกติปี 62-63 โตเพิ่ม 29% แนะนำ “ซื้อ” ลงทุนระยะยาว เป้า 4.70 บาท ฟากผู้บริหารเผยเตรียมขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในเวียดนาม คาดชัดเจนไตรมาส 3/62 พร้อมศึกษาเข้าประมูลโรงไฟฟ้าในมาเลเซียร่วมพันธมิตร
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมไฟฟ้า (EPC) โดยนักวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/62 เติบโตต่อเนื่อง เป็นผลมาจากโซลาร์ฟาร์ม #2 (Kimitsu) ในญี่ปุ่น กำลังผลิตราว 40 MW ได้เริ่มผลิต COD ไปเมื่อ 1 เม.ย. 62 จากที่บริษัทตั้งเป้าหมาย 1000 MW ภายในปี 63
โดยปัจจุบันมีโครงการในมือ 542.4 MW แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดผลิตแล้ว 348 MW (ณ สิ้นไตรมาส 1/62) และอีก 194.4 MW จะทยอยเริ่มผลิตใน ไตรมาส 2/2562 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 (เพิ่มขึ้น 16% CAGR) ส่วนที่เหลือมาจากโครงการใหม่ 458 MW
กำไรปกติปี 62-63 โต 29%
ทั้งนี้ ทางฝ่ายประเมินกำไรปกติปี 62-63 เพิ่มเป็น 1,698-1,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% โดยได้แรงหนุนจาก 1.โรงไฟฟ้าพลังลม 170 MW ซึ่งคาดว่าจะสร้างกำไรราว 900-1,000 ล้านบาทต่อปี ด้วย Adder 3.50 บาทต่อ KWH เป็นเวลา 10 ปี เริ่มในปี 61 และ 2.ธุรกิจก่อสร้าง (EPC) โดยบริษัทย่อย FEC มีโครงการในมือ (Backlog) ราว 7 พันล้านบาท (ณ สิ้นไตรมาส 1/62) คาดจะรับรู้รายได้ปี 62 ราว 2.6 พันล้านบาท จากเป้าหมายที่บริษัทจะมี Backlog เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้
ซื้อลงทุน-เป้า 4.70 บ.
อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปี 62 นี้ ไว้ที่ 8 พันล้านบาท จากธุรกิจพลังงานทดแทน 4 พันล้านบาท, ธุรกิจ EPC ที่ 2.6 พันล้านบาท และ Trading 1.4 พันล้านบาท หากเป็นไปตามคาด ถือเป็น Upside Risk ต่อประมาณกำไรของทางฝ่าย ดังนั้น แนะนำ “ซื้อ” สำหรับการลงทุนระยะยาว เนื่องจาก 1.กำไรอยู่ในช่วงขาขึ้น มาจากธุรกิจพลังงานทดแทน และ 2.มีโอกาสชนะประมูลโครงการเคเบิลใต้ทะเล คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงครึ่งแรกปี 2562 และได้ผลสรุปประมูลในไตรมาส 3/2562 ซึ่งถือเป็นข่าวดีช่วยหนุนราคาหุ้น หากบริษัทชนะการประมูล โดยมีราคาเป้าหมายที่ 4.70 บาท
งบ Q2 โต – ศึกษาลงทุนเพิ่ม
ก่อนหน้านี้ นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ GUNKUL เผยว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 2/62 จะเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจพลังงานเข้ามาเพิ่มเติม โดยได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ คิมิตสึ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ ส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้าที่ COD ในปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 380 เมกะวัตต์ และบริษัทมีโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 30 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะ COD ได้ในช่วง 4 – 5 เดือนข้างหน้า
ด้านการขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทน บริษัทยู่ระหว่างเจรจาซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศเวียดนามกำลังการผลิตราว 100-150 เมกะวัตต์ ซึ่งในเบื้องต้นบริษัทคาดหวังว่าจะได้อย่างน้อย 40-50 เมกะวัตต์ และจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 3/62 สำหรับแหล่งเงินทุนบริษัทจากสินเชื่อโครงการ ซึ่งบริษัทมีความสามารถในการกู้อีก 5-6 พันล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าในประเทศมาเลเซียร่วมกับพันธมิตรจำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดประมูลในเดือน ส.ค.62 นี้ พร้อมกันนี้บริษัทมีความสนใจที่จะไปลงทุนในประเทศไต้หวันด้วยเช่นกัน ขนาดกำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์