มิติหุ้น – CWT เผยผลงานไตรมาส 2/62 พุ่งต่อเนื่อง ลั่นรายได้ปีนี้ 2.4 พันล้านบาท ชูบริษัทย่อย “สกุลฎ์ซี” ปีนี้เติบโตเด่น แถมได้ดีรัฐหนุน หลัง สวทช.ใส่เงิน 20 ล้านบาทร่วมถือหุ้น เดินหน้าลุยโรงไฟฟ้าขยะ 9 MW. คาดได้รับอนุญาตต่อจากกลุ่ม Quick Win เร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป หรือ CWT ผู้ผลิตเบาะหนังและชิ้นส่วนหนังยานยนต์ ตลอดจนถือหุ้นในโรงไฟฟ้า โดยนายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ เผยว่า แนวโน้มรายได้ไตรมาส 2/62 คาดเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/62 ที่ 566 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการเติบโตในทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจเบาะหนังที่ยังมีออเดอร์เพิ่มขึ้น ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีการรับรู้รายได้ปีนี้เต็มปี และมีส่วนแบ่งรายได้และกำไรจากธุรกิจต่อรถและเรืออลูมิเนียมของ บริษัทย่อย สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น ซึ่งปัจจุบันมีออเดอร์ทยอยส่งมอบในช่วงสิ้นปีนี้ ถึงปี 63
เป้ารายได้ปีนี้ 2.4 พันล.
ทั้งนี้บริษัทมั่นใจรายได้ทั้งปี 62 จะทำได้ที่ระดับ 2.4 พันล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าเติบโตไว้ 50% แตะระดับ 3 พันล้านบาท ซึ่งจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจการขายและบริการหนังผืนที่ระดับ 2 พันล้านบาท และธุรกิจออกแบบและจัดจำหน่ายเรือและรถโดยสาร ราว 400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายรายได้ที่ลดลง เป็นผลจากการส่งมอบรถที่ล่าช้ากว่ากำหนดเพราะอยู่ระหว่างการทดสอบมาตรฐานคุณภาพร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทดสอบไปแล้วกว่า 80% คาดว่าใช้เวลาอีกสักระยะจึงสามารถส่งมอบได้ ซึ่งหากมีการส่งมอบได้ล็อตแรกปลายปีนี้จำนวน 208 คัน จะเป็นการเปิดทางให้บริษัทสามารถรับงานจากภาครัฐได้มากขึ้น
ส่วนธุรกิจเรือมีสินค้ารอส่งมอบราว 200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยส่งมอบและรับรู้เป็นรายได้ภายในปีนี้ราวเดือนละ 2 ลำ ซึ่งที่ผ่านมาเรือตรวจการณ์ค่อนข้างได้รับความนิยมสูง
สวทช.ควัก 20ล.ถือหุ้น ‘SakunC’
ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ สวทช. ได้ใส่เงินสนับสนุนในบริษัทสกุลฎ์ซี จำนวน 20 ล้านบาท โดยเข้าซื้อหุ้นเดิม 10% จากกลุ่มโชคนำชัย ซึ่งบริษัทยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 50% และปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ซึ่งการร่วมมือกับ สวทช. ในครั้งนี้ จะนำองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาของบริษัท ต่อยอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเรืออลูมิเนียม โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการคำนวณทางพลศาสตร์ของไหล หรือ CFD ช่วยในการจำลองสภาวะการใช้งานและศึกษาความสัมพันธ์ ตลอดจนผลกระทบจากการไหลของน้ำที่มีต่อโครงสร้างเรือ
ลุย รฟฟ.ขยะ 9MW
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะขนาด 9 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อเสนอขาย 8 เมกะวัตต์ โดยหลังจากภาครัฐมีความชัดเจนในแผนเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะได้รับการอนุญาตต่อจากกลุ่ม Quick Win จากปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้วคือโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มจำนวน 5 เมกะวัตต์