สหรัฐ-จีนพักรบสงครามการค้า  บาทยังทำสถิติแข็งค่าต่อเนื่อง

122

สหรัฐฯและจีนตกลงที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจาการค้าอีกครั้ง หลังการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี-20 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เสนอแนวทางที่ดูจะประนีประนอมมากขึ้น รวมถึงการไม่เก็บภาษีนำเข้าใหม่ และการผ่อนผันข้อกำหนดต่อบริษัทเทคโนโลยีของจีน ขณะที่จีนตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ครั้งใหม่และเปิดทางจะกลับไปเจรจาอีกรอบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาสำหรับความคืบหน้าของข้อตกลงแต่อย่างใด

เรายังไม่วางใจมากนักต่อทิศทางการฟื้นตัวของการค้าโลก อีกทั้งภาคส่งออกของไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากเงินบาทที่ทำสถิติแข็งค่ารายวัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และนับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย ทิ้งห่างสกุลเงินซึ่งแข็งค่าเป็นอันดับสอง คือ เปโซฟิลิปปินส์ ที่แข็งค่าขึ้น 2.6% (กราฟด้านล่าง) ปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นในปัจจุบัน ผลกระทบเชิงลบจากเงินบาทที่แข็งค่าต่อความสามารถการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทยนั้นชัดเจนและมีนัยสำคัญกว่าเมื่อปี 2560 โดยในครั้งนั้นเศรษฐกิจการค้าโลกกำลังเฟื่องฟู แม้เงินบาทแข็งค่าราว 10% แต่มูลค่าส่งออกของไทยยังสามารถเติบโตได้ราว 10% เช่นกัน เรามองว่าในส่วนที่พอจะเป็นโอกาสได้บ้างในวิกฤติ ผู้ดำเนินธุรกิจส่งออกอาจพิจาราณาใช้จังหวะที่เงินบาทแข็งค่าในการนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว ซึ่งจะมั่นคงกว่าการคาดหวังเรื่องการแข่งขันจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างดียว

เงินบาทยังคงอยู่บนเส้นทางของการแข็งค่าต่อไป ข่าวดีจากการประชุมจี-20 ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ แต่ดอลลาร์ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในช่วงสั้นๆ ส่วนการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยลงในการประชุมสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ยังคงชัดเจนและมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ระบุว่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปและอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน แม้เราคาดว่าทางการจะยังไม่ดำเนินมาตรการรุนแรงในขณะนี้แต่นับเป็นสัญญาณปรามด้วยวาจาที่แข็งกร้าวต่อพฤติกรรมการพักเงินในสินทรัพย์สกุลเงินบาทเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากค่าเงิน นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี จากการส่งออกที่หดตัวและรายได้ท่องเที่ยวที่กำลังเสียโมเมนตัม การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอาจช่วยบรรเทาสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าได้บ้าง อย่างไรก็ดี การขาดดุลดังกล่าวคิดเป็นจำนวนเล็กน้อยเพียง 0.38 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น และอาจสะท้อนผลของเงินโอนตามฤดูกาลอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ เราประเมินว่าเป็นไปได้ยากที่เงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าในระยะยาว เว้นเสียแต่ว่าภาครัฐสามารถนำร่องการลงทุนด้านสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ได้ตามแผน ซึ่งจะผลักดันยอดนำเข้าให้สูงขึ้นและช่วยลดแรงกดดันต่อเงินบาทได้ในที่สุด

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com