STA ยอดขายถุงมือยางพุ่ง ดันลูกเข้าตลาด-เป้า16บ. (17/07/62)

1853

มิติหุ้น- STA ส่งซิกผลงานไตรมาส 2/62 สุดหรู ชี้ยอดขายถุงมือยางล้นทะลัก หลังใช้กลยุทธ์เจาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่มีความต้องการสูง หนุนกำลังโตเกิน 90% แถมราคายางธรรมชาติพุ่งไม่หยุด เตรียมรับทรัพย์ดันบริษัท STGT ทำถุงมือยางเข้าตลาดหุ้นฯ  โบรกแนะนำ “ซื้อ” ชี้เป้า 16 บาท

 ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA ทำธุรกิจผลิตยางธรรมชาติแบบครบวงจร  ในหลากหลายประเทศ  โดยมีผลิตภัณฑ์ ยางแท่ง-ถุงมือยาง-ยางแผ่น-น้ำยางข้น โดย “ แหล่งข่าววงการอุตสาหกกรรม” เผยว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/62 จะเติบโตโดดเด่น เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/62 ที่ขาดทุนสุทธิ 627.68 ล้านบาท และ รายได้รวมที่ 15,437 ล้านบาท เพราะขาดทุนจากธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับยางพารา และธุรกิจถุงมือยางที่ปรับตัวลดลง

รายได้ถุงมือยางล้นทะลัก

โดยในช่วงไตรมาส 2/62 ปริมาณการขายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์เติบโตได้ดีขึ้น จากความต้องการใช้ถุงมือยางที่ขยายตัวในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ล่าสุด “ธุรกิจถุงมือยาง” คิดเป็น 20% ของรายได้รวม

ส่วนทิศทางราคายางธรรมชาติ (NR) ในไตรมาส 2/62 มีแนวโน้มไปในทิศทางบวก โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่ผู้บริโภค NR เริ่มกลับมาสั่งซื้อมากขึ้น ภายหลังจากสภามนตรีไตรภาคียางพารา (ITRC) มีมติให้ประเทศสมาชิก ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดำเนินมาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติ เป็นระยะเวลา 4 เดือน

โดยกำหนดการลดโควตาการส่งออก NR ของ 3 ประเทศ รวม 240,000 ตัน ซึ่งประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ได้เริ่มดำเนินมาตรการดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.62 ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มดำเนินมาตรการดังกล่าว และยังคงรอความชัดเจน

นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องติดตาม คือสภาพอากาศที่แห้งแล้งและร้อนจัด อาจส่งผลให้ระยะเวลาในการปิดกรีด หรือฤดูยางผลัดใบในประเทศไทย (ปลายเดือนก.พ.-พ.ค.) นั้นยาวนานขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงและอาจเป็นปัจจัยหนุนต่อราคา NR ได้

ล่าสุดสิ้นปี 61 บริษัทมีโรงงานผลิตยางธรรมชาติทั้งสิ้น 36 แห่ง แบ่งเป็น 32 แห่งในประเทศไทย อีก 3 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย และอีก 1 แห่งในประเทศเมียนมา โดยมีกำลังการผลิตรวม 2,860,872 ตัน/ปี ใช้กำลังผลิตแล้ว 62% ของกำลังผลิตทั้งหมด แบ่งเป็น ยางแผ่นรมควัน กำลังผลิต 209,921 ตัน/ปี ใช้กำลังผลิต 63.80% , ยางแท่ง กำลังผลิต 2,098,020 ตัน/ปี ใช้กำลังผลิต 62.10% และ น้ำยางข้น กำลังผลิต 552,931 ตัน/ปี ใช้กำลังผลิต 57%

ทั้งนี้ บริษัทมีพื้นที่สำหรับธุรกิจสวนยางพารา ประมาณ 45,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัดในประเทศไทย

ดัน STGTเข้าตลาดQ3/63

ด้าน “นายกิติชัย สินเจริญกุล” กรรมการ เผยว่า บริษัทมีแผนขายหุ้นบริษัทย่อย “บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT”ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำ STGT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยจะขาย IPO จำนวนไม่เกิน 31% ของทุนชำระแล้วทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/63 นี้

ภายหลังจากขายหุ้น IPO ทำให้ STA ถือหุ้น STGT ลดลงเหลือไม่ต่ำกว่า 55.95% จากเดิม 81.08% โดย STGT ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์และทางอุตสาหกรรม มีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว 990 ล้านบาท โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ไปใช้ขยายธุรกิจ และชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเพิ่มโอกาสในการหาพันธมิตรเพื่อมาต่อยอดธุรกิจ

กำลังผลิตถุงมือพุ่งเกิน90%

โดย STGT มีสินทรัพย์ สิ้นเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ 11,268 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,093 ล้านบาท  สิ้นปี 61 STGT มีโรงงานอยู่ทางภาคใต้ 4 แห่ง ภายใต้กำลังการผลิต 17,200 ล้านชิ้น/ปี ใช้กำลังผลิตไปแล้วทั้งสิ้น 92.1%  ถือเป็นผู้ผลิตถุงมือทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านการผลิตถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์ระดับโลก

นักวิเคราะห์แห่งหนึ่ง เผยว่า STA มีจุดเด่น คือ PBV อยู่ในโซนต่ำสุดรอบ 10 ปี และมี book value สูงถึง 16 บาท บริษัทมีกำไรซ่อน 842 ล้านบาท จากมูลค่าสินค้าคงเหลือสุทธิ หากบันทึกเข้ามาในไตรมาส 2/62 จะทำผลงานเติบโต “หลายเท่าตัว”  แถมการผลักดัน STGT ที่ทำธุรกิจผลิตถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ เข้าตลาดหุ้น จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตด้วย ดังนั้นแนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย 16 บาท