“SCB Wealth Holistic Experts” เผยมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจโลก แนวโน้มตลาดหุ้นไทย พร้อมกลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 3 รับรัฐบาลใหม่ และกฎหมายภาษีกองทุนรวม

93

SCB Wealth Holistic Experts” คลังสมองผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและต่อยอดสร้างความมั่งคั่งสำหรับกลุ่มลูกค้าเวลธ์ของธนาคาร เผยมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และทั่วโลก จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุน ในขณะที่ความขัดแย้งทางการค้ายังคงยืดเยื้อ และขยายตัวไปยังหลายประเทศ ส่งผลต่อความผันผวนของทิศทางตลาดต่อไป คาดว่าค่าเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลหลักๆ พร้อมแนะนำให้เน้นการลงทุนระยะสั้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีนตาม sentiment และโฟกัสการลงทุนระยะกลางในบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งมี valuation และความสามารถในการทำกำไรที่น่าสนใจ สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น เนื่องจากการเมืองมีความชัดเจนขึ้น โดยรัฐบาลใหม่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ได้รับปัจจัยหนุนจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น คาดการณ์ GDP ปี 2562 จะอยู่ที่ 3.1% รวมถึง SET Index จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1700-1750 จุดในครึ่งปีหลัง พร้อมแนะนำ 5 หุ้นเด่นในไตรมาส 3 โดยเน้นไปที่หุ้นที่อ้างอิงปัจจัยในประเทศที่มีการเติบโตและได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล ได้แก่ AMATA ROJNA CHG KTB และ IVL พร้อมกันนี้ในไตรมาส 3 กฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก “กองทุนรวม” ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราภาษี 15% จากกองทุนรวมที่ฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลด จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป โดยมีผลเฉพาะสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ใหม่หลังกฎหมายบังคับใช้เท่านั้น ส่วนภาระภาษีฝั่งผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ได้เสียภาษีระดับกองทุนรวมไปแล้ว นอกจากนี้กองทุน LTF จะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีปลายปี 2562 โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงพิจารณารูปแบบกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทน ซึ่งต้องรอความชัดเจนต่อไป         

          นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มุมมองการลงทุนในครึ่งปีหลังว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางของสหรัฐฯ และทั่วโลก จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุน ในขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าจะยืดเยื้อไม่จบลงง่ายๆ แม้ว่าการพบกันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์-สี จิ้นผิงนอกรอบ G-20 ที่ผ่านมาจะทำให้ Sentiment ตลาดดูดีขึ้น แต่ความขัดแย้งน่าจะขยายตัวไปยังหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของทิศทางตลาดต่อไป จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง และสร้างคะแนนความนิยมให้กับประธานาธิบดี ทรัมป์ ก่อนการเลือกตั้งฯ ภายใต้การชูนโยบาย “Make America Great Again” ในเดือนพฤศจิกายน 2563

ธนาคารกลางทั่วโลก จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และจะต้องรักษา policy space กับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะปรับลดลง ไม่ให้เกิดแรงกดดันกับอัตราแลกเปลี่ยนให้ซ้ำเติมการส่งออกมากขึ้นอีกด้วย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีกระสุนที่จะลดดอกเบี้ยมากที่สุด โดยคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed fund rate) ในปีนี้รวม 2 ครั้งจากปัจจุบัน ซึ่งจะถือเป็นสัญญานเชิงบวกว่า Fed พร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างทันที เป็นเหมือนการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับเศรษฐกิจก่อนที่โรคร้ายแรงจะเกิด จะทำให้นักลงทุนลดความกังวลของเรื่องเศรษฐกิจจะเข้าสู่ recession ในปีหน้า ประกอบกับแรงกดดันของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เรียกร้องให้ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้วหลายครั้ง และเคยวิจารณ์การทำงานของ Fed ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 1.0% ในปีที่แล้ว ถือเป็นปัจจัยที่ฉุดเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้จะเสนอชื่อ นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ และนางจูดี้ เชลตัน ซึ่งมีแนวความคิดสนับสนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการ Fed อีกด้วย

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาส 3/2562

ตลาดหุ้นที่มีมุมมองในเชิงบวก แต่แนะนำให้ลงทุนในระยะสั้นตาม sentiment ตลาดคือ

1)      ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้จากการลดดอกเบี้ยของ Fed และจากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น

2)       ตลาดหุ้นจีน ซึ่งจะได้รับแรงหนุนจากนโยบายการเงิน การคลัง และราคายังไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในกลุ่มพัฒนาแล้ว

สำหรับการลงทุนในระยะกลาง คือ

3)      ประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นเวียดนาม โดยมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนาม ได้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 4 ปี ในขณะที่ valuation และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในตลาดหุ้นเวียดนามยังน่าสนใจ

4)   ตลาดหุ้นไทยที่จะได้รับปัจจัยหนุนจากการเมืองในประเทศ โดยรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นี้

แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุการลงทุนยาว เพราะแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในทิศทางขาลงก็ตาม แต่เรามองว่าราคาตราสารหนี้ได้รับรู้ไปมากแล้ว ซึ่งหาก Fed ปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ อาจส่งผลให้ Yield Curve ปรับเพิ่มขึ้น และราคาตราสารหนี้จะปรับลดลงจากระดับปัจจุบันได้

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ควรเลือกลงทุนในนโยบายลงทุนที่ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาโดยผู้จัดการกองทุน เช่น การลงทุนในกองทุนผสม ที่มีการกระจายการลงทุนทั้งในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ หรือแนะนำให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีการคุ้มครองเงินต้น

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวถึงมุมมองด้านเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสแรก โดยเฉพาะในภาคต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวลง4.9% YoY และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP growth contributor) ติดลบค่อนข้างมาก (-3.6%)  ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้ง GDP ใน 1Q62 ให้ขยายตัวลดลงเหลือ +2.8%  ดังนั้น ปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในปี 2562 จึงจำเป็นต้องพึ่งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดย SCBS คาดการณ์ GDP ปี 2562 ไว้ที่ 3.1% ลดลงจากเดิม 3.3%

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทย ประเมินว่าได้รับปัจจัยหนุนจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้า โดยรัฐบาลใหม่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากความชัดเจนทางการเมือง รวมถึงการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุน ทั้งนี้ประเมินว่า SET Index ครึ่งปีหลัง 2562 มีโอกาสเคลื่อนไหวที่ระดับ 1700-1750 จุด

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย เรามองว่าตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำจากกรณีสงครามการค้า ในขณะที่การปรับลดประมาณการณ์กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนใกล้สิ้นสุดแล้ว คาดว่า SET Index ในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1700 – 1750 จุด โดยหุ้น Top Picks แนะนำลงทุนในไตรมาส 3/2562 เรามุ่งเน้นไปที่หุ้นที่อ้างอิงปัจจัยในประเทศ Domestic play ที่มีประเด็นการเติบโตและได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะมีความโดดเด่นกว่า Global play

  • กลุ่มธนาคาร นิคมอุตสาหกรรม รับเหมาก่อสร้าง จะเด่นขึ้นในระยะสั้น
  • กลุ่มค้าปลีก การแพทย์ ท่องเที่ยว ยังคงเป็นกลุ่มที่น่าลงทุนในระยะยาว
    • AMATA: กำไรแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และได้ประโยชน์จาก EEC นอกจากนี้การย้ายสายการผลิตมายังประเทศไทยจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากการย้ายฐานผลิตออกมาจากจีน เพราะมีห่วงโซ่อุปทานและให้ผลประโยชน์ทางภาษีที่ดีกว่าประเทศอื่น
    • ROJNA: รายได้ประจำช่วยป้องกันความเสี่ยงและได้ประโยชน์จากวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่
    • CHG: เชื่อมั่นผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เมื่อมองต่อไปข้างหน้า คาดกำไรจะปรับตัวดีขึ้นใน 2H62 ในด้าน valuation หุ้นกลุ่มการแพทย์ซื้อขายที่ PE 32 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ 35 เท่า
    • KTB: กำไรพิเศษได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายภาครัฐและสินเชื่อฟื้นตัว
    • IVL: valuation ไม่แพงและกำไรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ยังมีผลกระทบน้อยที่สุดจากสงครามการค้าในปัจจุบัน

ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planning & Family Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึง ภาพรวมของกฎหมายภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนเพื่อนำมาพิจารณาในการวางแผนการลงทุน โดยกฎหมายภาษีที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในช่วงหลังไตรมาส 3 ของปี 2562 หลักๆ มีดังนี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 (ประกาศราชกิจจานุเบกษา 22 พฤษภาคม 2562) กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก “กองทุนรวม” ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราภาษี 15% จากกองทุนรวมที่ฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลด ถือเป็น “รายได้ดอกเบี้ย” ตามเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี 25 มิถุนายน 2562 จะมีการออกกฎหมายลำดับรองยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่กองทุนถืออยู่ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 รวมถึงกองทุนรวมบางประเภท เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เนื่องจากเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะมิใช่กองทุนรวมภายใต้กฎหมายดังกล่าว, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการออมและรองรับการเกษียณในอนาคต ในด้านภาระภาษีฝั่งผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตราสารหนี้และกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ของผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นนิติบุคคล (ของผู้ถือหน่วยลงทุนบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อยู่แล้วในปัจจุบัน) ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดภาระภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ได้เสียภาษีเงินได้ในระดับกองทุนรวมไปแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายจะมีผลใช้บังคับ 20 สิงหาคม 2562 โดยมีผลเฉพาะกับสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ใหม่หลังกฎหมายใช้บังคับ อาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของกองทุนอาจลดลง แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะทรัพย์สินภายในกองทุนมีทั้งตราสารหนี้เก่า (ยกเว้นภาษี) และตราสารหนี้ใหม่ (ถูกจัดเก็บภาษี) จึงทำให้กองทุนยังพอมีระยะเวลาในการปรับตัวก่อนถึงเวลาที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงแนวโน้มรูปแบบกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทนกองทุน LTF ที่จะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปลายปี 2562 ในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการพิจารณารูปแบบกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทนกองทุน LTF โดยกองทุนแบบใหม่นี้ จะมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนโดยเน้นรูปแบบการลงทุนที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น ลงทุนในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและหุ้นยั่งยืน บรรษัทภิบาล หุ้น SME และหุ้น S-Curve สำหรับข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาการถือครองรวมถึงจำนวนสูงสุดเพื่อสิทธิลดหย่อนภาษี อาจจะต้องรอความชัดเจนของคณะรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารงานเพื่อพิจารณานโยบายทางภาษีดังกล่าวต่อไป