มิติหุ้น-บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ประสงค์จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย BAM และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)ได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อขออนุญาตเสนอขายหุ้น IPO จำนวนรวมกันไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น (รวมหุ้นจัดสรรส่วนเกิน) โดย BAM จะนำเงินที่ได้มาใช้เพื่อขยายธุรกิจบริหารจัดการ NPL NPA ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ชูจุดแข็งการเป็นบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประสบการณ์บริหารจัดการทรัพย์สินกว่า 20 ปี ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทยและบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย
นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ผู้นำตลาดธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
กรรมการผู้จัดการ BAM กล่าวเพิ่มเติมว่า BAM เป็นบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีจุดแข็งด้านทีมงานที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี มีฐานข้อมูล และระบบเทคโนโลยี รวมถึงมีสำนักงานใหญ่และสาขาที่เป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศรวม 25 แห่ง นอกจากนี้ยังมีสินทรัพย์หลากหลายประเภทและกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยลูกค้าสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินรอการขายและข่าวสารองค์กรผ่านสื่อต่าง ๆ ในประเทศ เว็บไซต์ของบริษัทฯ Social Media เช่น Facebook และ Line เป็นต้น ระบบแอพพลิเคชั่น BAM บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งหมด อันเป็นผลให้ BAM สามารถติดต่อและประสานงานกับลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความคล่องตัวในการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทฯ
“BAM ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2542 เพื่อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ BBC ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 ต่อมาได้ขยายธุรกิจออกไปซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายจากสถาบันการเงิน ธนาคาร และบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น” นายสมพรกล่าว
ทั้งนี้ BAM เชื่อว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ตอบสนองต่อสถานการณ์และสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งมีความคล่องตัวในการระดมทุนและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 4,904 ล้านบาท 4,501 ล้านบาท และ 5,202 ล้านบาท ตามลำดับ บริษัทฯ มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 93,637 ล้านบาท 99,933 ล้านบาท และ107,653 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในปี 2561 BAM มีลูกหนี้ด้อยคุณภาพทั้งหมดจำนวน 86,710 ราย คิดเป็นเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิจำนวน 75,434 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขายสุทธิจำนวน 20,596 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายกล่าวว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ FIDF ได้ยื่นไฟลิ่ง เพื่อขออนุญาตเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมกันไม่เกิน1,765 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท คิดเป็นร้อยละ 54.4 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญ (กรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ทั้งจำนวน) แบ่งเป็นหุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น หุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 16,225 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,245 ล้านหุ้น และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 13,675 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญ 2,735 ล้านหุ้น โดยการระดมทุนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ปัจจุบัน BAM มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมี FIDF ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ