กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.70-31.05 จับตาสัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอย

39

มิติหุ้น-กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.70-31.05 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 30.89 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 2.4 หมื่นล้านบาท และ 1.0 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบทุกสกุลเงินสำคัญ ขณะที่นักลงทุนกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสัญญาณเตือนเศรษฐกิจถดถอยหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ร่วงลงต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภท 2 ปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะให้ความสนใจถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ในการประชุมผู้นำธนาคารกลางทั่วโลกที่เมือง Jackson Hole นักลงทุนคาดว่าประธานเฟดอาจใช้เวทีนี้สื่อสารในเรื่องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในระยะถัดไป นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามการเปิดเผยบันทึกการประชุมรอบล่าสุดของเฟดเช่นกัน ส่วนการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงมีอิทธิผลต่อตลาดการเงินในภาพรวม ทั้งนี้ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ภาวะเส้นอัตราผลตอบแทนลักษณะ Inversion หรือ Yield ระยะ 10 ปีลดลงต่ำกว่าระยะ 2 ปีส่งสัญญาณผิดเกี่ยวกับการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ เพียงครั้งเดียว ขณะที่ทางฝั่งยุโรป คาดว่าเงินยูโรยังคงเผชิญแรงกดดันหลังมีกระแสข่าวว่าเยอรมันอาจจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและหลีกเลี่ยงจากการเข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะปรับลดดอกเบี้ยลงและเริ่มดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ครั้งใหม่

สำหรับปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2562 ขยายตัว 2.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 4 ปี โดยสภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เป็นเติบโต2.7-3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3-3.8% ขณะที่ส่งออกปี 2562 มีแนวโน้มหดตัวลง 1.2% ส่วนกระทรวงการคลังเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินไม่ต่ำกว่า 2.25 แสนล้านบาท ครอบคลุมการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การดูแลปรับเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย และการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยเรามองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปีนี้ท่ามกลางการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านนโยบายการเงินและการคลัง