SUPEREIF กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี เริ่มซื้อขาย 21 ส.ค. นี้

204

มิติหุ้น-กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กองแรก จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมซื้อขาย 21 ส.ค. นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 5,150 ล้านบาท โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “SUPEREIF” 

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มทรัพยากร หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “SUPEREIF” ในวันที่ 21 สิงหาคม 2562 

SUPEREIF ลงทุนในรายได้สุทธิที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาดเล็กมาก (VSPP) ของ บริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งหมด 19โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 118 เมกะวัตต์ รายได้หลักของโรงไฟฟ้าจะมาจากการขายไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง (แล้วแต่กรณี) โดยโครงการได้รับสัญญารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ หรือFeed-in Tariff (FiT) ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย มีระยะเวลาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ละโครงการคงเหลือประมาณ 21-22 ปี (นับจากเดือนสิงหาคม 2562) และโรงไฟฟ้าแต่ละโครงการได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์มาแล้วเป็นเวลากว่า 3 ปี 

โดย SUPEREIF เสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้จองซื้อทั่วไป ระหว่างวันที่ 22-26 และ 30-31 กรกฎาคม 2562  ผู้จองซื้อพิเศษและผู้สนับสนุน ในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 จำนวน 515 ล้านหน่วย ในราคาหน่วยละ 10 บาท รวมมูลค่าเสนอขาย 5,150 ล้านบาท โดยมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด เป็นบริษัทจัดการกองทุน และ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า SUPEREIF เป็นกองทุนที่ลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดย บลจ. ได้พิจารณาและประเมินศักยภาพของทรัพย์สินแล้วว่า สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและต่อเนื่อง จากการที่โครงการโรงไฟฟ้ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งมีอายุคงเหลือประมาณ 22 ปี และมีการกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่แน่นอนกับ กฟภ. และ กฟน. ดังนั้น การลงทุนในกองทุน SUPEREIF จึงเป็นโอกาสและทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่จะได้มีส่วนร่วมลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวและสม่ำเสมอ 

SUPEREIF มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง โดยรวมแล้วในแต่ละรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว ภายหลังการเสนอขายหน่วยลงทุน SUPEREIF มีผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่ 3ลำดับแรก ได้แก่ บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ถือหน่วยลงทุน 20.00% บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ถือหน่วยลงทุน 9.07% และ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ถือหน่วยลงทุน 9.07%