“โกลเบล็ก”  งัดกลยุทธ์ ครึ่งปีหลัง อัดโปรดักส์ใหม่ เสริมทัพธุรกิจ   รุก ให้บริการ WEALTH Management เจาะกลุ่ม High Net Worth

155

มิติหุ้น – บล.โกลเบล็ก ครึ่งปีหลัง 62 ลุยเพิ่มไลน์โปรดักส์ใหม่ ให้บริการด้านการเป็นตัวแทนซื้อขายกองทุนรวม (Wealth Management) หลังชิมลางมาแล้ว 5 เดือน กวาดวอลุ่มซื้อขายกว่า 500 ล้านบาท เล็งเจาะกลุ่มลูกค้า High Net Worth เพิ่มขึ้น ชู การเป็นตัวแทนซื้อขายกองทุนรวมกว่า 11 บลจ. ด้าน CEO “ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ” เชื่อกองทุนรวม ยังมีโอกาสโตต่อเนื่อง เหตุ ฐานนักลงทุนประเภท เงินออม มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

 นายธนพิศาล คูหาเปรมกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS เปิดเผยว่า ในครึ่งปีหลัง บริษัทฯยังคงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ ที่มีการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจรมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในเรื่องการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นบริษัทฯจึงเร่งเพิ่มช่องทางการให้บริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่มีการให้บริการลูกค้า อาทิ การให้บริการด้านที่ปรึกษาการลงทุนด้านวาณิชธนกิจ (IB), ตราสารหนี้ (Bond) , Options และการรักษาความเสี่ยงด้านการลงทุนของฝ่ายค้าตราสารทุนและอนุพันธ์ (Proprietary Trading), เครดิตบาลานซ์, Margin Loan, block Trade  โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการเปิดให้บริการในส่วนของหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง” (Structured Note) ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างมาก และอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมอีก 1-2 โปรดักส์ คาดว่าจะออกได้ในเร็วๆนี้

 นอกจากนี้ ทางบล.โกลเบล็ก เตรียมปรับกลยุทธ์แบบเชิงรุกในการให้บริการด้านการเป็นตัวแทนซื้อขายกองทุนรวม (Wealth Management) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ชั้นนำในประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้มีการเปิดให้บริการมาแล้ว 5 เดือน ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีมูลค่าซื้อขาย 500 ล้านบาท โดยจุดแข็งคือ การมีกลุ่มเจ้าหน้าที่การตลาด ที่มีฐานคอนเนคชั่น ที่เหนียวแน่นกับลูกค้ากลุ่ม High Net Worth

ด้านนายเจษฎา ยงพิทยาพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานตราสารหนี้(ตลาดรอง)และรักษาการผู้บริหารฝ่าย Wealth Management   บล.โกลเบล็ก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน บล.โกลเบล็ก เป็นตัวแทนซื้อขายกองทุนรวม  (Wealth Management) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ชั้นนำในประเทศไทย กว่า 11 แห่ง อาทิ 1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด 3. บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 4. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด 5. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด 6. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด 7. บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด 8. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน  แอสเซท พลัส จำกัด 9. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด 10. บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด มหาชน 11. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด โดยรูปแบบการให้บริการ แบ่งเป็น การให้บริการบัญชี Omnibus Account  บริการซื้อขายกองทุนรวมผ่านบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน  และการให้บริการแบบบัญชี Segregate Account บริการซื้อขายกองทุนรวมผ่านบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุนแบบเปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน

ทั้งนี้ การให้บริการดังกล่าว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้หลากหลายบลจ. รวมถึงบริการคัดสรรหน่วยลงทุน และยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมทั้งแนะนำหน่วยลงทุนที่น่าสนใจโดยทีมงานมืออาชีพที่มากประสบการณ์  ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน “ Settrade Streaming for Fund ” บนระบบ iOS และ Android

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มภาพรวมของกองทุนรวม มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจะเห็นได้จากในช่วงไตรมาส 2/62 ที่ผ่านมา มูลค่าตลาดรวม อยู่ที่ระดับ 5.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากปีก่อน ที่มีมูลค่าตลาดรวมที่ระดับ 5.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นในอนาคต หากบลจ. ยังมีแผนการออกกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (กองทุนเปิด และ กองทุนปิด) ประกอบกับหากอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง โอกาสที่นักลงทุนหันมาออมเงินในรูปแบบของกองทุนรวมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบล.โกลเบล็ก ที่มีแผนรองรับโปรดักส์ ด้านกองทุนไว้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันบุคลากรของบริษัทฯก็มีความเชี่ยวชาญที่พร้อมดูแลด้านการลงทุน