พลัสฯ สแกนตลาดคอนโด ชี้พื้นที่ปลอดภัยที่ยังอยู่ภาวะสมดุล เพลินจิต-ชิดลม-หลังสวน พระราม3 มีนบุรี ตบเท้าได้ไปต่อ

101

มิติหุ้น – พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เผยผลสำรวจคอนโดมิเนียม พบโซนศูนย์กลางเศรษฐกิจบริเวณเพลินจิต-ชิดลม-หลังสวน ยังคงไปต่อ อัตราการดูดซับสูงขึ้นถึง 53% เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่โซนชั้นกลาง พระราม3 อัตราการดูดซับประมาณ 5 ยูนิตต่อโครงการต่อเดือน ด้านมีนบุรี ขึ้นแท่นปลอดภัยสำหรับโซนด้านนอก คาดว่าจะขายหมดภายใน 9 เดือน เร็วกว่าค่าเฉลี่ย  โดยพื้นที่ดังกล่าวยังมีดีมานด์เติบโตดีและการดูดซับที่ยังค่อนข้างสมดุล ระบุการเกิดโอเวอร์ซัพพลายยังจำกัดในบางพื้นที่ ขณะที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่ และปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น

นางสาวสุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรเปิดเผยถึงมุมมองต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า “จากการเข้มงวดในมาตรการกำกับดูแลของภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ตลอด ทำให้มาตรการและหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ มีความรัดกุมจนมีสัดส่วนหนี้เสียเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูง ราว 3% จึงมองว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดวิกฤติฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เช่นปี 2540 อย่างไรก็ตามสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันยังมีความน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ในบางทำเล เนื่องจากช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายทำเลยังคงมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีจำนวนยูนิตเหลือขายเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ผู้ประกอบการได้พยายามปรับการลงทุนให้สมดุล โดยเน้นการขายและเร่งโอนโครงการที่สร้างเสร็จตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้เห็นตัวเลขของการขายโครงการเหล่านี้ดีกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

จากการสำรวจตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ของฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัสฯ โดยประเมินจากข้อมูลอุปสงค์ อุปทาน ความเร็วในการขาย และจำนวนยูนิตเหลือขาย วิเคราะห์เปรียบเทียบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีบางพื้นที่เท่านั้นที่มีภาวะ Oversupply โดยในปี 2562 จากการสำรวจตลาดในช่วง 6 เดือนแรกพบว่า มีที่อยู่อาศัยเหลือขาย 77,379 ยูนิต จากปี 2561 ที่มีเหลือขาย 79,671 ยูนิต โดยหากจำแนกตามรายโซนจากการสำรวจตลาดปี 2562 ในช่วง 6 เดือนแรก พบกว่า โซนกรุงเทพฯชั้นใน มีจำนวนเหลือขาย 10,453 ยูนิต ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาขายเฉลี่ย 12 เดือน (ในกรณีไม่มีโครงการใหม่มาเปิดขายเพิ่มในพื้นที่) ส่วนพื้นที่ที่ตลาดยังอยู่ในภาวะสมดุลคือทำเลเพลินจิต-ชิดลม-หลังสวน ที่ดูดซับได้ดีขึ้นราว 53% เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมียูนิตเหลือขาย จำนวน 645 ยูนิต คาดว่าจะใช้เวลาขายหมดในเวลาประมาณ 10 เดือน ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ยรวมในโซนกรุงเทพฯชั้นใน สำหรับโซนกรุงเทพฯชั้นกลาง มีจำนวนเหลือขาย 14,662 ยูนิต คาดว่าจะใช้เวลาขายหมดใน 16 เดือน (ในกรณีไม่มีโครงการใหม่มาเปิดขายเพิ่มในพื้นที่) โดยพบการทยอยดูดซับในพื้นที่พระราม 3 ที่มีจำนวนเหลือขาย 1,981 ยูนิต มีการดูดซับดีขึ้นราว 17% เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นกว่า 5 ยูนิตต่อโครงการต่อเดือน และโซนกรุงเทพฯชั้นนอก มีจำนวนเหลือขาย 52,264 ยูนิต คาดว่าจะใช้เวลาขายเฉลี่ย 21 เดือน (ในกรณีไม่มีโครงการใหม่มาเปิดขายเพิ่มในพื้นที่) พบการเติบโตของดีมานด์ในพื้นที่มีนบุรี โดยมีจำนวนเหลือขาย 8,690 ยูนิต ที่คาดว่าจะขายหมดในระยะเวลา 9  เดือน ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ยรวมในโซนกรุงเทพฯชั้นนอก

“สถานการณ์ตลาดคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเริ่มมีการวิเคราะห์ข้อมูลและปรับตัวปรับกลยุทธ์ เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะ Oversupply ซึ่งพบว่ามีโซนที่การเติมสินค้าใหม่เข้าตลาดโดยรวมค่อนข้างสมดุลกับอุปสงค์ในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้มองว่าหากผู้ประกอบการมีความระมัดระวัง เน้นการระบายโครงการเก่า และวิเคราะห์สถานการณ์ในการเปิดโครงการใหม่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ภาพรวมของทั้งตลาดในระยะยาวจะปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล ประกอบกับล่าสุดที่รัฐได้ปลดล็อกเกณฑ์ LTV โดยผ่อนปรนข้อบังคับสำหรับผู้กู้ร่วม ก็น่าจะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีทิศทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่อาจจะมีการประกาศในช่วงครึ่งหลังของปี” นางสาวสุวรรณี กล่าว

www.mitihoon.com