ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.คอปเปอร์ ไวร์ด หรือ CPW ประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์จากแบรนด์ชั้นนำ โดยมีบริษัทย่อย 1 แห่ง คือ บริษัท โคแอน จำกัด (KOAN) ซึ่งถือหุ้นสัดส่วน 99.99% โดยนายปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยถึงความพร้อมในการนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ของบริษัทฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด (KTZ) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาแบบคำขอจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัตินับหนึ่งแบบไฟลิ่ง และเดินสายโรดโชว์ พร้อมเข้าซื้อขายได้ทันภายในปี 62 นี้
สำหรับการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อขยายร้านค้าปลีกภายใต้การบริหารของ CPW ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุกรูปแบบ และการเติบโตตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ IoT ที่เราเป็นผู้นำสินค้าในกลุ่มนี้ในประเทศไทย และเรื่องของ 5G ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน จึงมั่นใจ CPW จะเป็นอีกบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตรับปัจจัยบวกอีกมากมายในอนาคต
“บริษัทมีแผนนำเงินระดมทุนส่วนหนึ่งไปใช้ปรับปรุงและขยายสาขา .life ซึ่งมีแผนขยายเพิ่มอีก 6 สาขาในปี 63 และรีโนเวท 5 สาขา ซึ่งใช้เงินลงทุนราว 5-10 ล้านบาทต่อสาขา และบริษัทมีวิธีการบริการสต็อกสินค้าทุกๆไตรมาส จะมีจัดโปรโมชั่นแกรนด์เซลล์เพื่อกระตุ้นยอดขาย ระบายสินค้า และป้องกันความเสี่ยงสินค้าตกรุ่น” นายปรเมศร์กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าประเภทดิจิทัลไลฟ์สไตล์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และอุปกรณ์เสริม ครอบคลุมแบรนด์ชั้นนำกว่า 200 แบรนด์ และมีสินค้าหลากหลายกว่า 2,000 รายการ รวมถึงให้คำปรึกษาการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มีความโดดเด่นในเรื่องสินค้าที่มีนวัตกรรม ความทันสมัย และสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น อุปกรณ์เกี่ยวกับเสียง อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ และการออกกำลังกาย เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและสำนักงาน
ในปี 2561 บริษัทมีสัดส่วนรายได้ในกลุ่มธุรกิจ แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ 43.37% กลุ่มโทรศัพท์มือถือ 26.84% กลุ่มคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 25.97% และกลุ่มบริการซ่อมแซมและรับประกัน 2.73% ของรายได้รวม
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 CPW มีร้านค้าและศูนย์บริการภายใต้การบริหารจัดการ 39 สาขา ได้แก่ ร้าน .life 20 สาขา ร้าน Apple Brand Shop ได้แก่ ร้าน iStudio by copperwired และร้าน Ai_ รวม 14 สาขา และศูนย์บริการซ่อมบำรุงผลิตภัณฑ์ Apple ในชื่อ iServe 5 ศูนย์ นอกจากนี้ ยังมีช่องทาง E-Commerce ผ่านเว็ปไซต์ของบริษัทเอง คือ www.dotlife.store และ www.istudio.store
สำหรับ KOAN ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจค้าส่งเชิงพาณิชย์สินค้ากลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขายสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ และเน้นการขายให้แก่ลูกค้าปลีกที่นำไปจำหน่ายต่อให้แก่ลูกค้ารายย่อย เช่น CPW ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ พาวเวอร์บาย ร้านค้าปลอดภาษี คิง พาวเวอร์ เป็นต้น
นายวิรัช มรกตกาล รองกรรมการผู้จัดการ สายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า CPW ได้ยื่นขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 160 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.67% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ เพื่อเข้าจดทะเบียนใน SET เงินที่ได้จากการระดมทุน นำไปใช้ลงทุน และ/หรือ ขยายธุรกิจร้านค้าปลีก และปรับปรุงสาขาร้านค้าปลีก ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและใช้สำหรับการดำเนินการทั่วไป และชำระเงินกู้ยืม
กลุ่มบริษัทคอปเปอร์ไวร์ด มีจุดเด่น ผู้บริหารและทีมงานมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในธุรกิจ เป็นผู้นำในธุรกิจสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่มีความหลากหลายมากที่สุดในประเทศไทย ขณะที่ ตลาดสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มบริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมทั้งการค้าปลีก (B2C) และค้าส่งเชิงพาณิชย์ (B2B) ทำเลที่ตั้งของร้านค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพได้อย่างครอบคลุม แผนการเข้ามาระดมทุนใน SET ครั้งนี้นับเป็นการแสดงความพร้อมในทุกด้านของกลุ่มบริษัท ทั้งในด้านผลการดำเนินงาน บุคลากร และโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ ผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทคอปเปอร์ไวร์ดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 – 2561 มีรายได้รวมจำนวน 2,549.94 ล้านบาท 2,789.05 ล้านบาท 3,227.62 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโต ในปี 2560 และปี 2561 อยู่ที่ 9.38% และ 15.72% ตามลำดับ โดยมีรายได้หลักจากช่องทางค้าปลีกหน้าร้านและบริการเป็นรายได้หลัก มีการเติบโตของกลุ่มสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์อย่างโดดเด่น ขณะที่กำไรสุทธิในงวดปี 2559 – 2561 อยู่ที่ 15.99 ล้านบาท 63.35 ล้านบาท และ 82.42 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโต ในปี 2560 และปี 2561 อยู่ที่ 296.19% และ 30.10% ตามลำดับขณะที่อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 0.63% 2.27% และ 2.55% ตามลำดับ มีสาเหตุหลักมาจากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของการขายกลุ่มสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ และการขยายธุรกิจค้าส่งของบริษัทย่อยซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง
www.mitihoon.com