UAC ศึกษาแผนลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กภาคใต้ตอนล่าง ขนาด 1.5-3.0 เมกะวัตต์  

71

 

มิติหุ้น- UAC ลุยศึกษาแผนลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็ก ภาคใต้ตอนล่าง ขนาด 1.5-3.0  เมกะวัตต์ คาดใช้งบลงทุน 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ รับนโยบายภาครัฐ  ด้านผู้บริหาร “ชัชพล ประสพโชค” ระบุพร้อมนำโมเดลธุรกิจโรงไฟฟ้าแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้นแบบในการลงทุน เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโรงไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   

นายชัชพล ประสพโชค  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ตามนโยบายของภาครัฐที่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งใช้พืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิง เช่น หญ้าเนเปียร์ข้าวโพดมันสำปะหลัง และอื่นๆ ในพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชพลังงานอยู่แล้ว หรือบริษัทฯเข้าไปส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ 

ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปศึกษาการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลาลงไปพบว่า มีศักยภาพในการดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็ก โดยใช้พืชพลังงานในพื้นที่ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และหญ้าเนเปียร์ เพราะในหลายพื้นที่ยังห่างไกล และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต  

สำหรับการลงทุนของโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กที่บริษัทฯ สนใจลงทุนนั้นมีขนาดตั้งแต่ 1.5 – 3.0  เมกะวัตต์ โดยลักษณะการลงทุนจะร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรทั้งในพื้นที่ หรือพันธมิตรที่มีความเชียวชาญในธุรกิจดังกล่าวที่พร้อมจะลงทุนในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงทั่วประเทศ เพราะบางพื้นที่อยู่ห่างไกล และที่ผ่านมาประสบปัญหาเรื่องระบบสายส่งไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึง

ดังนั้นมองว่าจึงเป็นโอกาสดี ที่ทางบริษัทฯจะเข้าไปดำเนินการในโครงการดังกล่าว ประกอบกับยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพราะโรงไฟฟ้าพืชพลังงาน ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ จำนวน 1 โรง จะช่วยให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จากการรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร ไม่ต่ำกว่าปีละ 15 ล้านบาท และจะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งต่อเนื่องไปถึงการยกระดับรายได้ของเกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืน

 “บริษัทฯ จะนำโมเดลธุรกิจโรงไฟฟ้าที่แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่เป็นต้นแบบ สำหรับการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางอากาศ(PM 2.5) ที่เกิดจากการเผาพื้นที่เพาะปลูกการเกษตร และสร้างรายได้ให้กับชุมอย่างแท้จริง” นายชัชพล กล่าว