ในเดือนกันยายน ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงเหวี่ยงตัวผันผวนอีกครั้ง โดยปอนด์ดิ่งลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 ปี เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ราว 1.1960 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หรือเป็นการร่วงลง 19.5% จากระดับก่อนการลงประชามติช็อคโลกเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งผู้โหวตให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (ประชามติ Brexit) เฉือนชนะด้วยเสียง 52% ต่อ 48% และเมื่อเทียบกับเงินบาทซึ่งแข็งค่าเมื่อเทียบกับหลายสกุลหลัก เงินปอนด์แตะระดับอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ (กราฟด้านล่าง)
อย่างไรก็ดี เงินปอนด์ฟื้นตัวขึ้นหลังนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่สามารถผลักดันให้รัฐสภาไฟเขียวจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด อีกทั้งรัฐสภาอนุมัติร่างกฎหมายที่ขัดขวางการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) แบบไร้ข้อตกลงต่อกันอย่างสิ้นเชิง หรือ No-deal Brexit โดยกฎหมายนี้จะบังคับให้นายกฯจอห์นสันต้องขอเลื่อนกำหนดเส้นตาย Brexit ออกไปจากวันที่ 31 ตุลาคม
ดูเหมือนว่าข่าวดีจากตัวเลขเศรษฐกิจช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อเงินปอนด์ในรอบนี้เช่นกัน โดยข้อมูลจีดีพีเดือนกรกฎาคมขยายตัว 0.3% จากเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการเติบโตมากที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคมและสดใสกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่ภาคบริการช่วยหนุนการขยายตัวและลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินปอนด์ไม่ได้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Gilt Yields) มากนัก สะท้อนค่าความเสี่ยงต่อการเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลงที่ยังคงรุมเร้า ทางด้าน นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษกล่าวว่าค่าเงินปอนด์ผันผวนมากขึ้นและผลกระทบทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสุดท้ายของ Brexit
เรามองอย่างระมัดระวังว่า แม้ Sentiment ของเงินปอนด์จะเริ่มดีขึ้นจากความหวังที่ว่าอาจมีทางออกที่ราบรื่นสำหรับ Brexit แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอียูจะอนุญาตให้มีการเลื่อนกำหนด Brexit ออกไปอีกครั้งหรือไม่ และด้วยเงื่อนไขอย่างไรบ้าง โดยตลาดจะจับตาการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปในวันที่ 17-18 ตุลาคม ซึ่งอาจเป็นเวทีสุดท้ายสำหรับการต่อรองอย่างเป็นทางการ ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในสหราชอาณาจักร, ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่อาจมีขึ้น, ประเด็นแนวพรมแดน(Backstop) ระหว่างไอร์แลนด์เหนือซึ่งอยู่ใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกอียู หรือเรื่องราวจะยุติด้วยการยกเลิก Brexit ในที่สุด หลังเส้นทางการถอนตัวที่เปียกปอนอย่างทุลักทุเลมาตลอดกว่า 3 ปี
เราประเมินว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน การฟื้นตัวของเงินปอนด์อาจมีโอกาสดำเนินต่อไปในช่วงสั้นๆ แต่ความผันผวนจะสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี แม้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่การแยกตัวออกจากอียูจะถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งแต่นั่นเป็นเพียงการซื้อเวลาและผลักความไม่แน่นอนออกไปจากสิ้นเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นปี 2563 โดยนักวิเคราะห์ MUFG ประจำลอนดอนคาดว่า GBPUSD จะร่วงลงสู่ 1.1000 กรณีความเสี่ยง No-deal Brexit รุนแรงมากขึ้น แต่จะทะยานสู่ระดับ 1.3000 ได้ในช่วงกลางปี 2563 หากสามารถบรรลุดีลออกจากอียูอย่างราบรื่น และ/หรือ มีการลงประชามติรอบสองเพื่ออยู่ในอียูต่อไป
โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com