มิติหุ้น – AMATA โค้งหลังแกร่งรับอานิสงส์สงครามการค้าเป็นบวกต่อบริษัท และแพ็คเกจ Thailand Plus หนุนยอดขายที่ดิน ลุ้นครึ่งปีหลังโอนที่ดินได้เพิ่ม 70-80% ของยอดขายรอโอนที่ 3.75 พันล้านบาท แถมอัพราคาที่หนุนกำไรขั้นต้น โบรกฯ แนะนำ “ซื้อ” หุ้นมีปัจจัยหนุน
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA ประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนักวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ คาดแนวโน้มผลประกอบการช่วงที่เหลือปี 62 บริษัทจะได้รับปัจจัยบวกจากสงครามการค้า และมาตรการรัฐฯ ที่มีการออกแพ็คเกจ Thailand Plus ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการบริการที่ครบวงจรสำหรับนักลงทุน เป็นปัจจัยหนุนกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีหลัง
ยอดพรีเซล-โอนเข้าเป้า
โดยปัจจัยบวกดังกล่าวจะช่วยเร่งยอด Presales ที่ดินในครึ่งหล้งปี 62 ให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 950 ไร่ จากช่วงครึ่งปีแรกขายได้แล้วราว 300 ไร่ ส่วนรายได้ของบริษัทคาดจะรับรู้แบ็กล็อกที่โอนกรรมสิทธิในครึ่งปีหลัง ประมาณ 2,800 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้จากการโอนให้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าครึ่งปีแรกที่มีการโอนเพียง 233 ไร่ รวมทั้งมีรายได้ประจำเพิ่มขึ้นจากรายได้ธุรกิจขายน้ำประปา และธุรกิจไฟฟ้า ที่เติบโตตามการขยายตัวของนิคมฯ
ทั้งนี้ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น AMATA โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 29 บาท ซึ่งคาดผลจากสงครามการค้าจะทำให้ธุรกิจนิคมฯ ได้รับประโยชน์จาการย้ายฐานการผลิต และการลงทุนมายังไทยและเวียดนาม ซึ่งบริษัทมีที่ดินพร้อมพัฒนาในทั้งสองประเทศ โดยในไทยได้ประโยชน์จากนโยบาย EEC ส่วนที่เวียดนามรอการโอนกรรมสิทธิ์จากรัฐบาลเวียดนาม คาดเริ่มขายที่ดินนิคมฯ ในปี 63 อีกทั้งบริษัทยังได้ประโยชน์จากค่าช่าที่ปรับตัวสูงขึ้นจากขยายตัวของกลุ่มอีคอมเมิร์ช และส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าที่คาดจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
ด้านนางสาวเด่นดาว โกมลเมศ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบัญชีและภาษี สายการเงิน สายงานนักลงทุนสัมพันธ์ เผยว่า ปัจจุบันบริษัทมียอดขายที่ดินรอโอน จำนวน 3,750 ล้านบาท ซึ่งคาดในช่วงครึ่งปีหลังจะโอนได้ราว 70-80% ของยอดขายที่รอโอน จากในช่วงครึ่งแรกของปี 62 มียอดโอนที่ดินไปแล้ว 233 ไร่ และคาดว่าในสิ้นปี 62 จะสามารถขายที่ดินได้ตามเป้า 950 ไร่ จากครึ่งปีแรกขายที่ดินแล้ว 300 ไร่
อัพราคาที่หนุนกำไรขั้นต้น
นอกจากนี้ ในปี 62 บริษัทมีการปรับราคาขายที่ดินแล้ว โดยในพื้นที่ชลบุรีมีการปรับราคาขายที่ดินกว่า 30% เป็นจำนวน 11 ล้านบาทต่อไร่ และที่ระยองปรับราคาขาย 20% หรืออยู่ที่ราคา 4.5 ล้านบาทต่อไร่ ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาที่ดินเพื่อเป็นการรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้น โดยที่ชลบุรี อยู่ที่ 65-70% ส่วนระยองอยู่ที่ระดับ 55%
ส่วนการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเมียนมา ยังเป็นไปตามแผน ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 64 ส่วนนิคมอุตสาหกรรมใน สปป.ลาว ยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษา