AQ ลุยฟ้อง ‘กรุงไทย’ เบี้ยวข้อตกลงชำระค่าเสียหาย – แย้งคำพิพากษา ในคดีของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

596

มิติหุ้น-ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ที่อนุมัติให้ฟ้องคดีแพ่งธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) กรรมการ และผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) กรณีให้ดำเนินการนำเงินจำนวน 3,898.70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน 4,300 ไร่ของบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ไปชำระเป็นค่าความเสียหายในคดีของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใน 15 วัน หากแต่ไม่มีการดำเนินการแก้ไขใดๆ บริษัทฯจึงดำเนินการยื่นฟ้องแพ่งเพื่อเรียกร้องให้ ธนาคารฯ ดำเนินการแก้ไขหรือชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ในวันที่ 25 เดือนกันยายน พ.ศ.2562 บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ในฐานะโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ (คดีหมายเลขดำที่ พ.2354/2562) โดยมีจำเลยคือ บริษัท ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ที่1), นายผยง ศรีวณิช (ที่2), นายนนทิกร กาญจนะจิตรา (ที่3), นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (ที่4), พลเอกเทียนชัย รับพร (ที่5), นายปุณณิศร์ ศกุนตนาค (ที่6), นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย (ที่7), นายธันวา เลาหศิริวงศ์ (ที่8), นายวิชัย อัศรัสกร (ที่9), นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (ที่10), นางแพตริเซีย มงคลวณิช (ที่11), นางนิธิมา เทพวนังกูร (ที่12), นายปริญญา พัฒนภักดี (ที่13) ฐานผิดสัญญา, ละเมิด, และเรียกค่าเสียหาย จำนวน 3,898,704,840.00 บาท

โดยนายปริญญา พัฒนภักดี (จำเลยที่ 13) ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงานปรับโครงสร้างและบริหารทรัพย์สิน ในฐานะตัวแทนของธนาคารและผู้รับผิดชอบในกรณีนี้หลายครั้ง ทำหน้าที่เจรจาหารือกับบริษัทฯ เป็นผู้แทนรับชำระเงินก้อนแรกที่บริษัทฯได้จากการเพิ่มทุน รวมทั้งเป็นผู้แทนธนาคารร่วมเจรจาตกลงกับบริษัทฯให้มีการขายที่ดินจำนวน 4,300 ไร่ ของบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด โดยวิธีการขายทอดตลาดให้แก่บุคคลที่สนใจ เพื่อนำเงินที่ได้มาชำระค่าเสียหายแก่ธนาคาร ซึ่งธนาคารได้รับเงินแล้วจำนวนรวมทั้งหมด 3,898,704,840.00 บาท

เงินจำนวนดังกล่าวจะต้องถูกหักออกจากค่าความเสียหายในคดีของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และบันทึกลงงบการเงินไตรมาสแรกปี 2562 ตามกรอบคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 และ หมายเลขแดงที่ อม.55/2558 อันระบุไว้ชัดเจนว่า “ธนาคารผู้เสียหายได้รับชำระคืนแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้หักออกจากจำนวนที่สั่งให้ใช้คืนตามส่วน” แต่ธนาคารมิได้หักเงินตามข้อตกลงในการชำระค่าเสียหาย ทั้งขัดกับคำพิพากษาฯ และขัดกับข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารได้เจรจาไว้กับบริษัทฯ

นอกจากนี้บริษัทฯและธนาคารยังไม่เคยหารือ หรือเจรจาเรื่องการชำระดอกเบี้ยในคดีแพ่ง เพราะบริษัทฯไม่ได้เป็นลูกหนี้ธนาคารโดยตรง ข้อตกลงระหว่างบริษัทฯกับธนาคาร เป็นเรื่องการชำระค่าเสียหายในคดีของศาลฎีกาฯ ที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดสำคัญเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ดูแลรับผิดชอบกรณีนี้ทราบดีอยู่แล้ว การที่ธนาคารบันทึกให้เงินจำนวน 3,898,704,840.00 บาท ว่าเป็นการชำระดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคดีแพ่งของศาลแพ่ง (ระหว่างธนาคารในฐานะโจทก์กับ บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ด จำกัด ในฐานะจำเลย) ในงบการเงิน จึงเป็นการจงใจปฎิบัติผิดข้อตกลงอย่างชัดเจน

การไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขอย่างสุจริตและจงใจกระทำการผิดสัญญา เป็นการละเมิดและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นมหาชน และอาจเป็นเหตุให้บริษัทฯได้รับความเสียหายถึงขั้นต้องเข้าฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯจึงไม่อาจนิ่งเฉยต่อการกระทำขององค์กรอันเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐและเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของประเทศ ที่มีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ของกฎหมาย รวมทั้งต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาอนุมัติเรื่องต่างๆอย่างระเอียดรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนหรือผลกระทบต่อลูกค้าหรือประชาชนทั่วไป จึงขอเรียกร้องต่อศาลให้มีการพิจารณาอย่างถูกต้องเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนับหมื่นรายของบริษัทฯ