มิติหุ้น-นางสาวพจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เปิดตัวบริการ BeDigiPass ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างบัตรประจำตัวแบบดิจิทัล (Pass) เพื่อใช้ระบุตัวตนของผู้ถือบัตรได้เหมือนบัตรประจำตัวปกติ โดยล่าสุดธนาคารได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดตัวบริการ KMUTT Mod D Pass เพื่อใช้เทคโนโลยีนี้สำหรับบัตรนักศึกษา และบัตรประจำตัวบุคลากรทั้งหมด ซึ่งจะเริ่มใช้ระบบบัตรดิจิทัลนี้ในปีการศึกษา 2562
“เทคโนโลยีนี้จะช่วยยืนยันตัวตนและมีข้อมูลเฉพาะตัวของเจ้าของบัตร ปัจจุบันมีหลายองค์กรนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เช่น การออกบัตรแบบดิจิทัลสำหรับขึ้นเครื่องบิน ธนาคารจึงเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาพัฒนาให้เป็น Total Solution ที่ตอบโจทย์สำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้อย่างครบวงจร เช่น มหาวิทยาลัย ที่สามารถต่อยอดไปเป็นแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานด้านต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ตอบโจทย์การเป็น Digital University อย่างครบวงจร”
สำหรับบริการ BeDigiPass จะสร้างบัตรดิจิทัลขึ้นมาให้สำหรับเจ้าของบัตรแต่ละคนโดยบัตรจะเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ เป็นช่องทางเสริมใช้แทนบัตรพลาสติก ซึ่งช่วยให้พกพาไปใช้งานในที่ต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่การระบุตัวตนของเจ้าของบัตรผ่าน Digital ID ซึ่งจะมี QR Code ที่สามารถใช้สแกนเพื่อยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการในสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยได้
และรับข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัย โดยการแจ้งเตือนผ่านระบบ พร้อมระบบการชำระเงินผ่านบริการ mBanking เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายเงินภายในมหาวิทยาลัยได้โดยไม่จำเป็นต้องพกเงินสดอีกด้วย
โดยในอนาคต KMUTT Mod D จะสามารถให้บริการนักศึกษาในการเชื่อมต่อกับข้อมูลการลงทะเบียนเรียน เช่น การตรวจสอบข้อมูลรายวิชาและตารางเรียน ตารางสอบ แสดงผลการเรียน การยืนยันตัวตนในการเข้าเรียน เข้าสอบ และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ KMUTT Mod D ยังสามารถใช้ยืนยันตัวตนในการเข้ารับบริการอิเล็กทรอนิกส์ของนักศึกษาและบุคลากร การขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาพร้อมกับชำระค่าธรรมเนียมการขอเอกสารและอื่นๆ ได้ในทันที
นางสาวพจณี กล่าวอีกว่า บริการนี้สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ iOS และ Android ซึ่งสามารถใช้แอปพลิเคชันร่วมกับบัตรดิจิทัลอื่นๆ ได้ด้วย เมื่อดาวน์โหลดบัตรเข้ามาแล้วก็จะเริ่มใช้งานได้ทันที อีกทั้งแอปพลิเคชันมีขนาดเล็ก จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อความเร็วในการประมวลผลของตัวเครื่อง รวมถึงสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยสามารถกำหนด PIN ในการเข้าใช้งานได้ เพื่อป้องกันบุคคลอื่นนำไปใช้งาน
“มหาวิทยาลัยถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ธนาคารให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการใช้บริการทางการเงินหลากหลาย ทั้งเงินฝาก กองทุน และบริการจัดการเงินสด ทั้งยังเป็นโอกาสในเชิงกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่อันจะพัฒนาไปสู่การเป็นฐานลูกค้าสำคัญของธนาคารในอนาคตด้วย ดังนั้น ธนาคารจึงเห็นว่าบริการต่างๆ ที่นำเสนอให้กับมหาวิทยาลัยควรต้องสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากบริการทางการเงินตามปกติเท่านั้น และมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถทำความเข้าใจความต้องการ และพฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์การใช้งานได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง” นางสาวพจณี กล่าว
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพทางด้านการบริการการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล อีกทั้งธนาคารกรุงเทพยังให้บริการแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งมหาวิทยาลัยได้นำไปต่อยอดการบริการด้านสารสนเทศ รวมทั้งพัฒนาบริการด้านดิจิทัลอื่นๆ สำหรับนักศึกษาและบุคลากรบนแพลตฟอร์มดังกล่าว./