มิติหุ้น-การทุ่มตลาด (Dumping) และ การอุดหนุน (Subsidy) เป็นการแทรกแซงราคาสินค้าส่งออกจากประเทศผู้ส่งออกให้ต่ำกว่าราคาปกติ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกลง แต่ทำให้ประเทศผู้นำเข้าจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควร ทั้งยังสร้างความเสียหายต่อราคาสินค้าที่ผลิตและแปรรูปภายในประเทศผู้นำเข้าอีกด้วย
มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) เป็น 2 มาตรการที่ประเทศผู้นำเข้าใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภาย ในประเทศจากความเสียหายโดยการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากอัตราภาษีนำเข้าปกติ อย่างไรก็ตาม มาตรการ AD และ CVD ยังคงสามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องมีการออกมาตรการเพิ่มเติมในการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti Circumvention: AC) เพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าว
ผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ประสบกับปัญหาการทุ่มตลาดและปัญหาการอุดหนุน ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยจากต้นปี 2018 สหรัฐฯ ได้ตั้งกำแพงภาษีผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนเพิ่มขึ้นอีกราว 25%-50% จากอัตราภาษีนำเข้าปกติ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงและมีโอกาสที่จะถูกนำเข้าสู่ไทยมากขึ้น
ปริมาณผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน (ไม่รวม stainless steel) เฉลี่ยจากจีนที่มีการนำเข้าที่คล้ายคลึงกับการหลีกเลี่ยง AD และ CVD (circumvention) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2013-2018) โดยมีปริมาณอย่างน้อย 193,000 ตัน/ปีแบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนจากการทำ slight modification ราว 20,000 ตัน/ปี และผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนจากการทำ transshipment ราว 173,000 ตัน/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยราว 6% ของปริมาณการผลิตเหล็กทรงแบนทั้งหมดในไทย ทั้งนี้ อีไอซี ประเมินว่า การนำเข้าที่คล้ายคลึงกับการหลีกเลี่ยง AD และ CVD (circumvention) ในอนาคต มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน