ธนาคารกรุงเทพ สานต่อความสำเร็จ ‘วิถีเกษตรก้าวหน้า’ ยุคดิจิทัล จัดสัมมนาพิเศษ-ดึงคนต้นแบบร่วมเวทีแชร์ประสบการณ์สู่ความสำเร็จ

209

มิติหุ้น-ธนาคารกรุงเทพ เดินหน้าสานต่อโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ สู่ยุคดิจิทัล หนุนเกษตรกรไทยปรับตัว ดึงนวัตกรรมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-ลดความเสี่ยง สร้างโมเดลธุรกิจตนเอง อยู่รอดอย่างยั่งยืน พร้อมชวนเกษตรกรตัวอย่างร่วมเวที แชร์ประสบการณ์ประยุกต์เชื่อมเทคโนโลยีสู่วิถีเกษตร

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ว่า ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิธีการดำเนินธุรกิจในแบบเดิม หรือ Disrupt ในทุกวงการธุรกิจ รวมถึงภาคการเกษตรที่กำลังเผชิญกับความท้าทายนี้เช่นกัน ดังนั้น ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งได้ร่วมสนับสนุนภาคการเกษตรของไทยมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ ได้กำหนดแนวคิดหลักของการดำเนินโครงการในปีนี้ให้สอดคล้องกัน โดยมีความมุ่งหวังที่จะช่วยผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัว โดยเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเลือกสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ให้เข้ากับแนวทางการดำเนินธุรกิจของตน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดความเสี่ยงลง ตลอดจนสามารถอยู่รอดในโลกดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ ธนาคารกรุงเทพได้จัดสัมมนาพิเศษผ่านกิจกรรมของโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ ประจำปี 2562 โดยได้รับเกียรติจากคุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

นอกจากนี้ ยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและเกษตรกรตัวอย่าง มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “เกษตรกรจะปรับตัวอย่างไรในยุคดิจิทัล” ประกอบด้วย คุณปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กระทรวงเกษตรฯ บรรยายเรื่อง “การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก” คุณนิธิภัทร์ ทองอ่อน เกษตรกรก้าวหน้ารุ่นใหม่ จ.ระยอง บรรยายเรื่อง “การจัดการสวนทุเรียนแบบเกษตรแม่นยำ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (IOT)” คุณอาทิตย์ จันทร์นนทชัย เจ้าของแพลตฟอร์มเครือข่ายเกษตรกร Application Farm To (ฟาร์มโตะ) บรรยายเรื่อง “การสนับสนุนเครือข่ายการตลาดออนไลน์สินค้าเกษตรปลอดภัย โดยเชื่อมเกษตรกรกับลูกค้า, ผู้บริโภค ให้มีส่วนร่วมในการผลิตผ่านระบบอินเทอร์เน็ต” และคุณอรทัย เอื้อตระกูล คอลัมนิสต์ วารสารเคหการเกษตร บรรยายเรื่อง “การปรับตัวของเกษตรกรเพื่อให้ผ่านกฎ ระเบียบ กติกาของประเทศผู้ซื้อสินค้าเกษตร” โดยมี ผศ.อดิศักดิ์ บ้วนกียาพันธุ์ เจ้าของรายการติดดิน กินได้ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพได้ริเริ่มอำนวยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรไทยมาตั้งแต่ปี 2505 และได้จัดตั้งโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ ขึ้นเมื่อปี 2542 โดยอดีตประธานกรรมการบริหาร “คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ต่อเนื่องมาถึง “คุณเดชา ตุลานันท์” โดยการนำตัวอย่างความสำเร็จมาเป็นต้นแบบถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านการเกษตร การจัดการตลาด การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน การบริหารจัดการการเงิน การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายการผลิตกับการตลาดที่มีศักยภาพ รวมถึงจัดงานมอบรางวัล ‘เกษตรก้าวหน้าดีเด่น’ เพื่อเป็นเกียรติแก่เกษตรกรต้นแบบผู้ประสบความสำเร็จ

“เราพูดถึงเรื่องเกษตรก้าวหน้ามาร่วม 20 ปีแล้ว ด้วยความมุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่กว้างขวางขึ้น ในหลากหลายมิติ ยิ่งมาถึงยุคดิจิทัลในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมายในวงการเกษตร ก่อให้เกิดเกษตรอัจฉริยะ และเกษตรแม่นยำขึ้น ไปจนถึงการสร้างแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยเชื่อมโยงให้เกิดการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันและการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เทคโนโลยีสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตไปจนถึงการส่งมอบผลผลิตให้แก่ลูกค้า ดังนั้น นอกเหนือจากเทคโนโลยีแล้ว เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องมี “ความรู้” เพื่อคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้สำหรับสร้างเป็นวิถีแนวทางของตนเองที่จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน” นายเดชากล่าว

นายอาทิตย์ จันทร์นนทชัย เจ้าของแพลตฟอร์มเครือข่ายเกษตรกร Application FarmTo (ฟาร์มโตะ) ซึ่งนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยแก้ไขปัญหาด้านช่องทางการตลาด โดยใช้แนวคิด “เกษตรแบ่งปัน” คือ ผู้บริโภคสามารถเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตร่วมกับเกษตรกรได้ตั้งแต่ก่อนเพาะปลูก เพื่อจ่ายเงินซื้อผลผลิตล่วงหน้า โดยถือว่าผู้บริโภคได้เป็นเจ้าของผลผลิตในรอบการปลูกนั้นๆ ร่วมกับเกษตรกร ระหว่างการเพาะปลูก ผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของผลผลิตผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทั้งเว็บเพจและแอปพลิเคชัน ทั้งสามารถไปเยี่ยมเกษตรกรถึงแปลงปลูกได้อีกด้วย และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะได้รับผลผลิตกลับไปตามจำนวนที่สั่งจอง

“แนวคิดนี้ช่วยให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่ามีตลาดรองรับที่แน่นอนและราคาที่เหมาะสมโดยวิธีการขายผ่านทางออนไลน์ส่งตรงถึงผู้บริโภค ขณะเดียวกันผู้บริโภคสามารถรับรู้แหล่งที่มาของผลผลิตและมั่นใจในผลผลิตที่ตนเองจะได้บริโภคเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า FarmTo คือสื่อกลางที่ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น” นายอาทิตย์ กล่าว

ปัจจุบัน FarmTo ได้เริ่มขยายเครือข่ายไปยังโรงแรมและผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีตลาดที่กว้างขึ้นและรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยวางแผน ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการเองได้ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถช่วยเหลือตัวเองและเติบโตไปสู่การสร้างแบรนด์ให้แก่ผลผลิตของตัวเองได้ในอนาคต