สวัสดีค่ะทุกท่าน หลังจากบทความ “Libra” – จับตา “ก้าวที่กล้าของ Facebook” ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา ด้วยยอดผู้เข้าชมมากกว่าแสนครั้ง ก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวมาตลอด จากที่ก่อนหน้านี้ในเดือนเดียวกัน Facebook ได้ประกาศว่าจะร่วมกับพันธมิตรอีก 27 รายเปิดตัว “Libra” (ลิบรา) และมีแผนจะนำมาใช้ในปี 2563 ซึ่งเกิดข้อคำถามทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่หลากหลายมุมมอง จึงอยากจะนำเสนอภาคต่อของ Libra เพื่อให้เห็นความคืบหน้าของโครงการที่กำลังเป็นที่ฮือฮาทั่วโลกกัน
- ทุนสำรอง (Libra Reserve)
ก่อนอื่นต้องขอท้าวความกันก่อนนะคะว่า Libra เป็นคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ที่มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้เพื่อให้บริการโอนเงินและชำระเงินระหว่างกัน ซึ่งจะมีความรวดเร็วและมีค่าบริการต่ำสำหรับคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับบริการทางการเงินจากธนาคาร
Libra ยังเป็นคริปโทฯ ที่มีมูลค่าตามสินทรัพย์ที่อ้างอิง เรียกว่า “stable coin” ซึ่งจะอิงกับตะกร้าเงินฝากที่เป็นสกุลเงินหลักและหลักทรัพย์ระยะสั้นที่ออกโดยรัฐบาลและสำรองไว้เต็มจำนวน (fully reserved) เพื่อลดความผันผวน ซึ่งได้ประกาศล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ประกอบด้วย 5 สกุลเงินหลัก ได้แก่ ดอลล่าร์สหรัฐ ยูโร เยน ปอนด์ และสิงคโปร์ดอลล่าร์ โดยครึ่งหนึ่งของทุนสำรองจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar)
- คำถามจากภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล
อันที่จริงแล้ว Facebook ได้เผยแพร่รายละเอียดของ Libra ไปแล้วบ้างบนเว็บไซต์ลิบราก่อนหน้านี้ แต่ถูกมองว่ายังขาดรายละเอียดสำคัญอีกเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถให้รายละเอียดต่อวุฒิสภาของสหรัฐเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้
นี่เอง จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศส่วนใหญ่ที่กำลังจับตาดู Libra ได้แสดงท่าทีเชิงตั้งคำถามและขอให้ Facebook ชะลอโครงการไปก่อน เนื่องจากมองว่า Libra อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายทางการเงินของแต่ละประเทศและเสถียรภาพทางการเงินโลก และยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินให้แก่การก่อการร้าย รวมทั้งมีข้อสงสัยในแง่ความปลอดภัยของการใช้งานและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่ง Facebook เองก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงยังคลางแคลงใจว่า Facebook จะสามารถปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ลิบราไม่ให้รั่วไหลออกไปได้หรือไม่ ขณะที่บริษัท “Calibra” ที่ Facebook ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการกระเป๋าเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) โดยสามารถรับส่งเงินผ่านแอปพลิเคชันอย่าง WhatsApp และ Facebook Messenger ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการขอความยินยอม หาก Calibra จะแบ่งปันข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้งานให้แก่ Facebook ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมโยงระหว่าง Facebook กับบริษัทพันธมิตร (ไม่ว่าจะเป็นกรรมการหรือตัวองค์กรเอง) ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นอิสระและความสัมพันธ์ระหว่าง Facebook กับLibra
- อังกฤษประกาศคุมเข้ม Libra แม้จะยังไม่มีการใช้จริง
ก่อนหน้านี้ ประเทศ G7 จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (taskforce) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากธนาคารกลางหลายประเทศ เพื่อศึกษาเรื่องการกำกับดูแล Libra โดยเฉพาะ และในปัจจุบัน ฝรั่งเศสและเยอรมนีก็ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนแล้วว่าจะคัดค้าน Libra ในสหภาพยุโรป
ล่าสุด ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (Bank of England) ได้ออกประกาศคุมเข้ม Libra โดยกำหนดให้ระบบการชำระเงินของ Libra ต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นสูงสุดด้านความมั่นคงทางการเงิน (financial resilience) และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม การพิจารณา resilience ของระบบ Libra นั้นต้องดูให้ครบวงจร โดยพิจารณาจาก Libra Association ซึ่งเป็นสมาพันธ์ที่ขับเคลื่อนโครงการลิบรา ทุนสำรอง (Libra Reserve) และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้สอบทานธุรกรรม (validator) ศูนย์ซื้อขาย และผู้ให้บริการ wallet
- Facebook ยังคงเดินหน้า แม้มีพันธมิตรถอนตัว
Libra Association มีแผนที่จะยื่นขอใบอนุญาตระบบการชำระเงิน (system payment license) จาก Financial Market Supervisory Authority (FINMA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้ออกแนวปฏิบัติไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมเกี่ยวกับระบบการชำระเงินบนบล็อกเชน มาตรการป้องกันการฟอกเงิน การยืนยันตัวตนของลูกค้า (Know-Your-Customers: KYC) และระบบติดตามความเสี่ยง โดย FINMA มีความเห็นว่า Libra จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานขั้นสูงสุดด้านการป้องกันการฟอกเงิน
อุปสรรคที่ Libra เผชิญยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อ PayPal หนึ่งในพันธมิตรเดิมได้เปิดเผยเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่าจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของ Libra Association ตามด้วย Visa, Mastercard, eBay, Stripe และ Mercado Pago ที่ต่างก็เพิ่งออกมาประกาศถอนตัวเช่นกัน เนื่องจากการลงนามในเอกสารแสดงเจตตามกำหนดการ (letter of intent) เข้าร่วมโครงการ Libra ของเหล่าพันธมิตรก่อนหน้านี้ยังไม่มีผลผูกพัน ดังนั้น การจัดประชุมสมาชิก Libra Association ครั้งแรกในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ก็ต้องลุ้นกันว่าสมาชิกที่ลงนามในกฎบัตรอย่างเป็นทางการมีบริษัทใดบ้าง
อย่างไรก็ดี Facebook จะต้องหาทางออกจากปัญหาที่รุมเร้าให้เร็วที่สุด เพราะจะต้องเข้าพบเจ้าหน้าที่ทางการของสหรัฐอีกสองครั้งในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า Facebook จะสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางการในแต่ละประเทศ ตลอดจนการเปิดตัว Libra ที่จะพลิกโฉมวงการการเงินได้ทันในปี 2563 ตามที่วางแผนไว้หรือไม่
ขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรเช็คให้ชัวร์ก่อนว่ามีความเข้าใจและสามารถยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจลงทุน สำหรับผู้ที่สนใจจะลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ เสี่ยงสูง ดอท คอม หรือค้นหาผลิตภัณฑ์หรือรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน “SEC Check First” สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ท่านระมัดระวังหากถูกชักชวนให้ลงทุนใน Libra โดยอ้างว่าเป็นโอกาสร่วมลงทุนกับ Facebook หรือพันธมิตรต่าง ๆ สำหรับผู้ที่มีเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัยใด โปรดแจ้ง SEC Help Center สายด่วน ก.ล.ต. 1207 เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไปค่ะ
โดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล
ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ทีมโฆษก และฝ่ายฟินเทค
www.mitihoon.com