ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 52 – 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 57 – 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (21 – 25 ต.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะเผชิญกับแรงกดดันต่อจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าหลังคาดความต้องการใช้น้ำมันยังคงชะลอตัวลง รวมถึงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะมีความคืบหน้าและสามารถบรรลุข้อตกลงได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกที่ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง ตามข้อตกลงการปรับลดปริมาณการผลิต รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ 6 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาลของโรงกลั่น รวมถึงปริมาณการส่งออกที่คาดจะชะลอตัวลงเนื่องจากค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ไม่คุ้มค่าที่จะส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.9 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นปรับลดกำลังการกลั่นลงกว่า 0.22 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา
- จับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมก่อนการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในเดือน พ.ย. 62 หรือไม่ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาทางด้านสหรัฐฯ และจีนมีความคืบหน้าในการเจรจาการค้า ส่งผลให้ทางสหรัฐฯ ได้มีการเลื่อนขึ้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวม 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกไปก่อน ขณะที่ทางจีนตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้มีการลงนามเป็นข้อตกลงแต่อย่างใด รวมถึงสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการล้มแผนการขึ้นภาษีกับสินค้าจีนอีกชุดหนึ่งมูลค่ารวม 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการเจรจารอบใหม่คาดจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือน ต.ค. นี้
- ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ตามเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาลง หลังล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ลงจากเดิมที่ร้อยละ 2 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ซึ่งนับเป็นการเติบโตในระดับที่น้อยที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี โดยสาเหตุหลักมาจากปริมาณการค้าและการลงทุนของโลกที่ชะลอตัวลงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมเริ่มหดตัวลง ขณะที่ในภาคบริการเริ่มมีการชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนของนโยบาย
- ปริมาณน้ำมันดิบของเอกวาดอร์มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศคลี่คลายลง เนื่องจากทางรัฐบาลสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มผู้ประท้วงได้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้ตามปกติจากเดิมที่ปริมาณการผลิตปรับลดลงไปกว่า 24 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 40 ของกำลังการผลิตเดิม โดยคาดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการกลับไปสู่ระดับปกติ
- การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2563 โดยความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิต (Compliance rate) ล่าสุดมากกว่า 100% ทั้งนี้กลุ่มโอเปกและนอกโอเปกจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 – 6 ธันวาคม เพื่อทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมันในปีหน้า โดยตลาดคาดว่ากลุ่มผู้ผลิตจะมีการขยายระยะเวลาการปรับลดปริมาณการผลิตต่อไปจากเดิมอีก
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตและบริการยูโรโซน และยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ
www.mitihoon .com