กลุ่ม KTIS เร่งสร้างโรงงานผลิตภาชนะชานอ้อย ดันสัดส่วนรายได้สายธุรกิจชีวภาพโตต่อเนื่อง

63

                                                              

มิติหุ้น-กลุ่ม KTIS หวังโรงงานผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อยมูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท ช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้สายธุรกิจชีวภาพเติบโตจนใกล้เคียงกับรายได้สายธุรกิจน้ำตาล ลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ เผยขณะนี้เริ่มก่อสร้างโรงงานและคัดเลือกเครื่องจักร กำลังการผลิต 50 ตันหรือประมาณ ล้านชิ้นต่อวัน คาดรับรู้รายได้ภายในปี 2563 มั่นใจไม่มีปัญหาด้านการตลาด เพราะกระแสรักสิ่งแวดล้อมมาแรง เชื่อปี 2563 ผลการดำเนินงานเติบโตจากสายธุรกิจชีวภาพทั้งโรงไฟฟ้า เอทานอล เยื่อกระดาษ ประกอบกับราคาน้ำตาลผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

นายณัฎฐปัญญ์  ศิริวิริยะกุล  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่ม KTIS ได้ตั้งบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ แพ็คเกจจิ้ง จำกัด เพื่อดำเนินโครงการผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อยเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมลงทุนกับ บริษัท ยูเรเซีย ไลท์ อินดัสตรี อีควิปเม้นท์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จากประเทศจีน ในสัดส่วน กลุ่ม KTIS 85% และ ยูเรเซียฯ 15% นั้น ขณะนี้ได้เริ่มการก่อสร้างโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์แล้ว ในขณะเดียวกัน ก็ได้เร่งกระบวนการคัดสรรเครื่องจักรที่เหมาะสมสำหรับผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ผลิตได้หลากหลายรูปทรง และมีคุณภาพสูง 

ทั้งนี้ ภาชนะจากเยื่อชานอ้อยที่โรงงานใหม่สามารถผลิตได้นั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ถ้วย ชามหลุม กล่องใส่อาหาร เป็นต้น โดยมีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน เทียบเท่ากับจำนวนภาชนะประมาณ ล้านชิ้นต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,300 ล้านบาท ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ในสายธุรกิจชีวภาพของกลุ่ม KTIS อีกโรงงานหนึ่ง นอกเหนือจากโรงงานผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล และโรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย โดยคาดว่าโรงงานใหม่นี้จะเริ่มผลิตและจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดได้ภายในปี 2563 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจชีวภาพเติบโตขึ้นมาในระดับที่ใกล้เคียงกับรายได้จากสายธุรกิจน้ำตาล อันจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาลได้เป็นอย่างดี จากปัจจุบันที่กลุ่ม KTIS มีรายได้จากสายธุรกิจน้ำตาลประมาณ 64% และสายธุรกิจชีวภาพ 36%

“เรามั่นใจมากว่า โรงงานผลิตภาชนะชานอ้อยนี้จะมีศักยภาพในการทำรายได้และกำไรที่ดี เนื่องจากในปัจจุบันกระแสรักสิ่งแวดล้อมมาแรงมาก ความต้องการใช้ภาชนะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดูได้จากการผลิตภาชนะชานอ้อยที่ปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีสายการผลิตอยู่ที่โรงงานของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ กำลังการผลิตประมาณ ตันต่อวัน หรือประมาณ 100,000 ชิ้นต่อวันนั้น แม้จะใช้เต็มกำลังการผลิต ก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว