BBL เล็งช่วยเหลือลูกค้ารับผลกระทบ GSP-กูรูเชียร์ “ซื้อ”เป้า 225 บ.

179

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL โดย “นายเดชา ตุลานันท์” ประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยว่า กรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศเพิกถอนสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐฯหลายรายการนั้น

ปัจจุบัน BBL กำลังประเมินความเสียหายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้ากลุ่มส่งออก อาทิ ธุรกิจกุ้งแช่แข็ง ทูน่า เนื้อปลา มูลค่าเบื้องต้น 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 39,000 ล้านบาท ซึ่งหากลูกค้าได้รับผลกระทบ BBL จะให้ความช่วยเหลือในทันที

ส่วนทั้งปี 62 คาดสินเชื่อจะเติบโตตามเป้าที่ 4% แม้ช่วง 9 เดือนแรก สินเชื่อรวมจะหดตัว 3.9% เพราะสินเชื่อลูกค้าธุรกิจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และ การชำระคืนหนี้คืนจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ช่วงไตรมาส 4/62 จะมีลูกค้าที่รอเบิกใช้สินเชื่ออยู่หลายรายทำให้สินเชื่อรวมทั้งปี 62 เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ด้านหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้(NPL) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปัจจุบันที่ 3.6% แต่มั่นใจจะสามารถควบคุมได้ สำหรับการตั้งสำรองอยู่ในระดับปกติ ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) ปัจจุบันมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) อยู่ที่ 183.4% โดยถือว่าอยู่ในระดับที่สูง

สำหรับทั้งปี 63 ตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโต 3% บนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5% และได้แรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า ถนน สนามบิน ซึ่งทำให้ความต้องการสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้น

“บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” แนะนำ “เพิ่มน้ำหนัก” เข้าลงทุนในหุ้น  BBL ซึ่งคาดว่าความต้องการสินเชื่อจะฟื้นตัวจากสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในภาคเกษตรและภาคการผลิตในไตรมาส 4/62 แม้ว่าสินเชื่อจะหดตัว 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากการชำระคืนของลูกค้าธุรกิจและค่าเงินบาทที่แข็งค่า) ในไตรมาส 3/62 แต่ BBL คาดว่าสินเชื่อจะทรงตัวในปี 62 ทั้งนี้สินเชื่อต่างประเทศ (17% ของบัญชีสินเชื่อ) เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบนับตั้งแต่ต้นปี ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ แต่ทรงตัวในรูปเงินบาท สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียม BBL ยังคงเป็นบวกจากกองทุนรวมและ Bancassurance แต่ในส่วนของค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องยังน่าผิดหวัง

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL ในสินเชื่อต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าและสงครามการค้า เนื่องจากการอนุมัติสินเชื่อที่ระมัดระวังและหลักประกันที่มีคุณภาพสูง เช่น เงินสด ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าการตั้งสำรองไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาทในปีนี้ (1.6 หมื่นล.ใน 9 เดือนแรกของปี 62)

ขณะที่สำรองหนี้สูญในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี ผบห.ระบุว่าเงินตั้งสำรองในขณะนี้มีมากพอตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 แต่ธนาคารอาจเก็บยอดเงินส่วนเกินไว้ภายใต้การบริหารจัดการ เพื่อความไม่แน่นอนในอนาคต เรามองว่าเงินตั้งสำรองมีแนวโน้มลดลงหลังจากการประกาศใช้ TFRS9 ในปี 2563

ดังนั้นฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2562-63 เติบโต 4-6% จากปีก่อน หนุนโดยต้นทุนสินเชื่อที่ลดลงและการควบคุมต้นทุนที่ดี  “BBL เป็นหนึ่งในหุ้นเด่น” ที่มีปัจจัยบวกซึ่งคาดว่าจะมาจากความสามารถในการทำกำไรที่ดีและ NPL coverage ที่แข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แนะนำ “ซื้อ” ด้วยราคาเป้าหมายที่ 225 บาท (P/BV ปี 2563 ที่ 0.9 เท่า ROE 9.0%) ปัจจัยบวกอยู่ที่ต้นทุนสินเชื่อที่มีแนวโน้มลดลงหลังจากเริ่มใช้ TFRS9 ในปี 2563 ส่วนปัจจัยลบคือ NIM และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่อ่อนแอกว่าที่คาด

 

www.mitihoon.com