ราคาน้ำมันดิบคาดได้รับแรงหนุน จากโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มอัตราการกลั่นหลังสิ้นสุดฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง

168

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 54 – 59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 – 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 ต.ค. – 1 พ.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบคาดได้รับแรงหนุนจากกำลังการกลั่นที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันกลับมาดำเนินการผลิตหลังจากหยุดซ่อมบำรุงประจำปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) เตรียมปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากกว่าข้อตกลงเดิมที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังคาดความต้องการใช้น้ำมันยังคงชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจยังไม่ได้ข้อสรุปในเร็วนี้และคาดจะส่งผลกดดันต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความต้องการใช้น้ำมัน และตลาดยังคงกังวลต่อสถานการณ์การถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 18 ต.ค. 62 ปรับลดราว 1.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการกลั่นราว 429,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากโรงกลั่นเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งหลังสิ้นสุดฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำปี
  • คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจากจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากกำลังการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นในจีน เดือน ก.ย. 62 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปิดดำเนินการของโรงกลั่นใหม่ๆ ในจีนและการกลับมาดำเนินการกลั่นอีกครั้งหลังโรงกลั่นบางแห่งเสร็จสิ้นจากการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล
  • กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) เตรียมปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากกว่าข้อตกลงเดิม ซึ่งอยู่ที่ราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันดิบในปี 2563 โดยกลุ่มโอเปกพลัสจะทำการประชุมเพื่อหารือกันถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในการประชุมวันที่ 5-6 ธ.ค. 62
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตเนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันจากแหล่งก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเดือน ต.ค ปริมาณการผลิตคาดจะลดลงไปสู่ระดับที่ได้ตกลงไว้
  • ตลาดกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจยังไม่ได้ข้อสรุปในเร็วนี้และคาดจะส่งผลกดดันต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความต้องการใช้น้ำมัน โดยความคืบหน้าล่าสุดทางสหรัฐฯ ได้มีการออกมาเปิดเผยว่าข้อตกลงทางการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการจะลงนามในการประชุม APEC ในวันที่ 16-17 พ.ย. จะต้องเป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญทุกประเด็น ซึ่งสร้างความกังวลกับตลาดว่าทั้งสองประเทศอาจจะบรรลุข้อตกลงได้ล่าช้ากว่ากำหนด
  • จับตาสถานการณ์ว่านายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะสามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงกับทางสภาก่อนกำหนดการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิท ในวันที่ 31 ต.ค. ได้หรือไม่ หลังล่าสุดทางสภาได้ลงมติให้มีการเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 3/2562 นโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จีดีพียูโรโซนไตรมาส 3/2562

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 – 25 ต.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 61.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดราว 1.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลงราว 873,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก (OPEC+) เตรียมปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากกว่าข้อตกลงเดิม เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2562 ว่ามีการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 27 ปี โดยมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 6.0 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.1