ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART ดำเนินธุรกิจด้านไอซีทีครบวงจร โดยนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปี 62 บริษัทสนใจเข้าประมูลโครงการรวมมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Finance Solution ให้กับลูกค้ากลุ่มธนาคาร โครงการของกรมสรรพสามิต และโครงการของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยมั่นใจจะได้รับงานเพิ่มและสนับสนุนงานในมือ (แบ็กล็อก) แตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีแล้วกว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทยังอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญารับงานจากแบงก์ออมสินในปีนี้ มูลค่าราว 1 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี บริษัทมั่นใจรายได้รวมปี 62 เติบโตแตะระดับ 1.8 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงหรือสูงกว่าเป้าเล็กน้อย เนื่องจากจะทยอยรับรู้แบ็กล็อกที่มีไปในช่วง 4-5 ปี ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/62 คาดบริษัทลูก “บมจ.สามารถเทลคอม” หรือ SAMTEL จะรับรู้รายได้และกำไรเยอะสุดกว่าทุกไตรมาส เพราะมีงานทยอยส่งมอบมากที่สุด ขณะที่แผนปี 63 วางเป้ารายได้เติบโตแตะ 2 หมื่นล้านบาท
ส่วน “บมจ.สามารถดิจิตอล” หรือ SDC ซึ่งหลังจากพลิกฟื้น และมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งจาก โครงการติดตั้งโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล และเสาไทรคมนาคม ในกรมอุทยาน ก็เริ่มทยอยรับรู้รายได้ รวมถึงโครงการ Digital Trunk Radio หรือบริการวิทยุสื่อสารคมนาคมระบบดิจิทัล ที่ปัจจุบันมีลูกค้ารายใหญ่ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมป้องกันสาธารณภัย เป็นต้น โดยในปีหน้าตั้งเป้าจำหน่ายไว้ประมาณ 6 หมื่นเครื่อง จากกลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ โดยชูบริการเสริมที่สร้างโอกาส
ทางธุรกิจ และสร้างความคุ้มค่าให้กับกลุ่มลูกค้า อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการเดินเรือ มีบริการ Tourism Boat Tracking Systern หรือระบบติดตามเรือนำเที่ยว ให้กับเรือในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพื่อเป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังให้กับเจ้าหน้าที่ และสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
ที่สำคัญ SDC ยังมีโครงการใหม่ ซึ่งจะสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟทั่วประเทศ หรือ Google Station ซึ่งจับมือ กับ CAT ในการทำตลาด โดย SDC จะมีรายได้จากการเข้าไปหาพื้นที่และติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟ พร้อมดูแลรักษาตลอด 5 ปี (นับจากติดตั้ง) โดยตั้งเป้าติดตั้งจำนวน 10,000 จุด ภายในปี 2563 ล่าสุดได้บรรลุข้อตกลงกับกรมอาชีวะ ในการติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟในสถาบันอาชีวะ 428 แห่ง
ด้าน U-Trans ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านพลังงานและสาธารณูปโภค โดย บริษัท เทด้า ได้มีการเซ็นต์สัญญา
ในโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า และโครงการสายไฟฟ้าลงดิน รวมมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทแล้ว ยังมีโอกาสในการเข้าประมูลโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินอีกหลายเส้นทาง และยังมองหาธุรกิจใหม่ๆด้านการจัดการพลังงานด้วย
ส่วนความคืบหน้าการนำบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ SAV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ปัจจุบันผ่านขั้นตอนการยื่นแบบคำขอ และร่างหนังสือชี้ชวนต่อกลด. เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 ต.ค.62 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเข้าทำการซื้อขายหุ้นได้ในช่วงเดือนมี.ค.63
“SAV จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาคหลักทรัพย์ฯ บริษัทที่ 5 ของกลุ่มบริษัทสามารถ โดยเน้นลงทุนใน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิก เซอร์วิส จำกัด หรือ CATS ซึ่งได้รับสัปทานจากรัฐบาลกัมพูชาในการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ทั่วน่านฟ้ากัมพูชา เป็นเวลารวม 39 ปี นับจากปี 2545 ถึง 2584 ทั้งนี้การนำ SAV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นการ Unlock Value คือ การสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็น และเหมาะสม ของ CATS โดย วัตถุประสงค์ของการระดมทุน ก็เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืนเงินกู้ ลดภาระตอกเบี้ย และรองรับการขยายธุรกิจใหม่ๆของกลุ่มบริษัทสามารถในอนาคต” นายวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้าย
www.mitihoon.com