เอสซีจี เซรามิกส์ แถลงผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 กำไรเพิ่ม เร่งขยายสาขา “คอตโต้ ไลฟ์” เชียงใหม่เจาะกลุ่มสถาปนิกลูกค้าไฮเอนด์

68

มิติหุ้น – นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี COTTO ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยถึงงบการเงินรวมก่อนสอบทาน ของ COTTO ในไตรมาสที่ 3  ปี 2562 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,728 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากยอดขายโดยรวมลดลงโดยเฉพาะในส่วนของสินค้าระดับกลางลงมา ในขณะที่สินค้าระดับบนและสินค้านำเข้ามีราคาขายเฉลี่ยลดลง

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมีกำไร 87  ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 180 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 312 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากในไตรมาสนี้ บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนจากการดำเนินงานตามแผนการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ตามเป้าหมาย ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากได้มีการรับรู้ค่าใช้จ่ายรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านแรงงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายนำพลกล่าวว่า “ตลาดเซรามิกในไตรมาสนี้ถือว่ายังไม่มีปัจจัยบวกและเติบโตเป็นศูนย์เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาโดยเติบโตเล็กน้อยประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับการอัตราขยายตัวด้านเศรษฐกิจ (GDP) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัว  GDP  ปีนี้ลงเหลือเติบโตที่ 2.8% ต่อปี จากเมื่อเดือน มิ.ย.2562 ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 3.3%  มีผลกระทบต่อยอดขายสินค้าในส่วนของตลาดระดับกลางลงมาในขณะที่ตลาดระดับบนยังมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตามในไตรมาสนี้บริษัท ฯ มีค่าใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ประกอบกับ ยังคงรักษาวินัยด้านต้นทุนด้านการผลิตได้ตามเป้าหมาย จึงทำให้สามารถแข่งขันและทำกำไรได้”

ในด้านกลยุทธ์การดำเนินงานด้านการตลาดที่สำคัญ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นเรื่องการสร้างแบรนด์  COTTO ให้แข็งแกร่งและเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยได้ดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ด้วยการปรับปรุงและเปิดดำเนินการ COTTO Life”  แห่งแรกที่ เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์ คริสตัล ดีไซน์เซ็นเตอร์ ซึ่งมีกระแสตอบรับอย่างดีจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของบ้านและผู้ที่กำลังจะสร้างบ้านในระดับราคาสูงกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 500 รายต่อเดือน มียอดขายเฉลี่ยประมาณ 26,000 บาทต่อราย และมีแนวโน้มยอดขายเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ จึงได้ขยายสาขา COTTO Life สาขาที่ 2 ตั้งอยู่ที่ โครงการ CHOC ถนนมหิดล ใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง จากการที่เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือในหลาย ๆ ด้าน ที่สำคัญ คือ เป็นพื้นที่ศูนย์รวมสถาปนิก ทั้งบริษัทออกแบบ สถาปนิกอิสระ และบุคลากรทางการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก 3 สถาบันชั้นนำ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพายัพ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

นายนำพล กล่าวว่า  “จากประสบการณ์ของเรา ลูกค้ากลุ่มลูกค้าสถาปนิก นักออกแบบและบุคคลากรในวงการนี้ ส่วนใหญ่มักจะชื่นชอบความพิเศษและความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร เราเข้าใจความต้องการของเขา ดังนั้นสินค้าที่นำมาจัดแสดงที่นี่จะเป็นสินค้าคอลเล็กชั่นพิเศษซึ่งจะมีจำหน่ายเฉพาะที่ COTTO Life เท่านั้น  นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพื้นที่ Co-working Space เพื่อให้สถาปนิกหรือเจ้าของโครงการได้เข้ามาใช้พื้นที่ในการพบปะสังสรรค์ ประชุมหรือเสนองานกับลูกค้าด้วย”

“สำหรับลูกค้าทั่วไปก็สามารถเข้ามาเลือกซื้อและรับบริการได้เช่นกัน โดยจะมีกระเบื้องเซรามิกที่คัดมาเป็นพิเศษให้เลือกทุกแบรนด์ ทั้งแบรนด์ COTTO  แบรนด์ CAMPANA และแบรนด์ SOSUCO ครบทุกฟังค์ชั่น ตั้งแต่กระเบื้องขนาดเล็กไปจนถึงกระเบื้องขนาดใหญ่และโมเสก รวมถึงระบบและวัสดุในการติดตั้ง ที่สำคัญ คือ สินค้าทุกตัวที่โชว์มีสต็อกพร้อมขายและมีบริการจัดส่งทั่วประเทศ  นอกจากนี้เรายังมี LIFE PARTNER และ CREATIVE DESIGNE ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาด้านสินค้าและบริการออกแบบการใช้งานให้เหมาะกับพื้นที่เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นภาพจริงก่อนตัดสินใจและนำเสนอบริการติดตั้งจากผู้เชี่ยวชาญ เรียกได้ว่าเราพร้อมให้บริการตั้งแต่นำเสนอสินค้า ออกแบบ จนจบถึงงานติดตั้ง”  นายนำพล กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินงานด้านการจัดการพลังงาน บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด มหาชน ยังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด โครงการ “ซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลางบน ESS Platform” ดำเนินการโดยหน่วยงาน Energy Solution Service ของ เอสซีจี เซรามิกส์  ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วม “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน หรือ Energy Regulatory Commission Sandbox : ERC ดำเนินการโดย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ)  โดยโครงการ “ซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลางบน ESS Platform”  มีนวัตกรรมในรูปแบบกิจการธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน และเป็น 1 ใน 34 โครงการที่ผ่านการคัดเลือกจากทั้งหมด 182 โครงการจากบริษัทชั้นนำระดับประเทศที่ส่งเข้ามาให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ) พิจารณา

 “เอสซีจี เซรามิกส์ ยังคงมุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพและพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักดีกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท” นายนำพล กล่าวสรุป

www.mitihoon.com