PPPM ปลดล็อคหุ้นกู้ TLUXE205A จำนวน 200 ล.-ชี้ปี 63 พลิกบวก

233

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.พีพี ไพร์ม หรือ PPPM ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์และพลังงานทดแทน โดย “นายวรุณ อัตถากร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า บริษัทจะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ และ แก้ไขปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน โดยปัจจุบันบริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน 3 รุ่น

ได้แก่ หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2561 (TLUXE205A) จำนวน 200 ล้านบาท จะครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 พ.ค.63 , หุ้นกู้ครั้งที่ 2/2561 รุ่น TLUXE198A จำนวน 319.50 ล้านบาท เลื่อนไปเป็นวันที่ 2 ก.ค.63 และหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 (PPPM213A) จำนวน 207.60 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 18 มี.ค. 64

โดยหุ้น TLUXE205A จำนวน 200 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนนั้น บริษัทได้ศึกษาไว้ 3 แนวทาง คือ 1. การนำกระแสเงินสดมาชำระหนี้หุ้นกู้ , 2.การรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ามาชำระคืนหุ้นกู้ชุดเดิมที่มีดอกเบี้ยที่สูงกว่า แม้ปัจจุบัน PPPM จะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่ก็มีสินทรัพย์สูงพร้อมค้ำประกันเงินกู้ชุดใหม่ และ 3. การขายสินทรัพย์ เพื่อนำเงินมาชำระหุ้นกู้

สำหรับภาพธุรกิจทั้งปี 62 ยังมีโอกาสผลขาดทุนสุทธิ เนื่องจากค่าใช้จ่ายรวมยังสูงกว่ารายได้ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลักๆมาจากการลงทุน “โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ”ในญี่ปุ่นที่ยังไม่สร้างรายได้ แม้ธุรกิจหลัก อย่าง “ธุรกิจอาหารสัตว์” จะเติบโตได้ดี โดยปี 62 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 3-5% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2 พันล้านบาท และปัจจุบันกำลังได้รับอานิสงส์เงินบาทแข็งค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบหลัก “ถั่วเหลือง” ลดลง ผลักดันให้ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น

ส่วนในปี 63 มีโอกาสพลิกทำกำไร จากการบริหารจัดการภายในที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วน “ธุรกิจอาหารสัตว์” ก็มีแผนพัฒนาสูตรอาหารเพื่อให้สอดรับกับสายพันธุ์ใหม่ๆ ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จากสิ้นปีก่อนมีกำลังการผลิตอาหารสัตว์รวม 273,400 ตัน/ปี

แบ่งเป็น โรงงาน จ.เพชรบุรี รวม 141,400 ตัน/ปี ใช้กำลังการผลิตไปแล้ว 42.27% (อาหารกุ้ง 80,400 ตัน/ปี,อาหารปลา-อาหารสัตว์เลี้ยง 61,000 ตัน/ปี) , โรงงาน จ.สงขลา รวม 132,000 ตัน/ปี ใช้กำลังการผลิตไปแล้ว 13.06 % (อาหารกุ้งที่ 60,000 ตัน/ปี และอาหารปลา 72,000 ตัน/ปี) ซึ่งทั้ง 2 โครงการตั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในเขตภาคใต้ และประเทศมาเลเซีย

สำหรับ “โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ” ในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีทั้งหมด 15 โครงการ กำลังการผลิต 125 กิโลวัตต์/โครงการ ปัจจุบันได้ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เป็นที่เรียบร้อย คาดจะเริ่มรับรู้รายได้ในระยะถัดไป  โดยเฉลี่ยรายได้ 12 ล้านบาท/โครงการ/ปี  รวม 140 ล้านบาท/ปี

 

www.mitihoon.com