เปิดศักราชใหม่อีซีบี ยุคคริสติน ลาการ์ด หลังซุปเปอร์ มาริโอ้ ครบวาระ

91

มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลา 8 ปี และครบเทอมในวันที่ 31 ตุลาคม ในช่วงอีซีบีอยู่ภายใต้การนำของดรากี หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซุปเปอร์ มาริโอ้” เงินยูโรอ่อนค่าลงกว่า 20%

ส่วนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งต่อจากเขา คือ คริสติน ลาการ์ด อดีตกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และเป็นผู้หญิงคนแรกที่นั่งตำแหน่งประธานอีซีบี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มืดมนในเขตยูโรโซนเนื่องจากผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก ขณะที่ในยุคของดรากีนั้น อีซีบีได้ออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำกว่า 0% และการขยายงบดุลของธนาคารกลางเป็น 4.7 ล้านล้านยูโรจาก 2.3 ล้านล้านยูโร ผ่านการซื้อสินทรัพย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล และในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเริ่มต้นโครงการซื้อพันธบัตร 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนท่ามกลางเสียงคัดค้านจากเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี นอกจากนี้ อีซีบีเปิดช่องไว้สำหรับการลดดอกเบี้ยลงอีก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังอยู่ที่ระดับต่ำห่างไกลเป้าหมาย

โจทย์ใหญ่ของลาการ์ดคือกระสุนในเชิงเครื่องมือนโยบายเพื่อต่อสู้กับความเสี่ยงด้านเงินฝืดมีจำกัด สภาวะแวดล้อมความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเงินของยูโรโซนและของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับสมัยที่ดรากีเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทั่วทั้งยุโรปติดลบแม้แต่ประเทศที่เคยประสบแรงกดดันด้านหนี้สาธารณะและต้นทุนการกู้ยืมทะยานขึ้นอย่างสเปนและอิตาลีล้วนเผชิญภาวะ Bond Yield ติดลบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินทั้งลักษณะปกติและพิเศษได้ทำไปแทบจะเต็มเพดานแล้ว และสถานการณ์ผันเข้าสู่กับดักสภาพคล่องคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น รวมถึงปัญหาสำหรับผู้ออมเงินและเงินบำนาญขณะที่จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าประสิทธิผลของการทำให้เงินอ่อนค่าลงจากการผ่อนคลายทางการเงินกำลังลดลงไปเรื่อยๆ

ในช่วงการส่งไม้ต่อ ซุปเปอร์ มาริโอ้กล่าวทิ้งท้ายให้กำลังใจลาการ์ดด้วยการระบุว่า “อย่ายอมแพ้” ในการประคับประคองเศรษฐกิจยูโรโซน โดยในระยะหลังมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นว่ามาตรการทางการคลังน่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่านโยบายการเงิน ในระยะถัดไปเราจึงน่าจะเห็นการผลักดันให้ใช้เครื่องมือทางการคลังอย่างเป็นรูปธรรมในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจสำหรับประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง อาทิ ภาคแรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลา ขณะที่อีซีบีในยุคลาการ์ดมีแนวโน้มสานต่อนโยบายการเงินในแง่ทิศทางจากดรากีแต่ขอบเขตจะเผชิญข้อจำกัดอย่างมาก เราประเมินว่าค่าเงินยูโรจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2563 บนสมมติฐานที่ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพและนโยบายการคลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

                                                                                           โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ

                         ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com