TPS ตั้ง KGI เป็นลีดอันเดอร์ไรท์เตอร์ เคาะราคาขายหุ้น IPO ที่ 2.50 บ./หุ้น KGI ควง 5 อันเดอร์ไรท์เตอร์ชั้นนำ เปิดจอง 5-7 พ.ย. 2562 นี้

147

มิติหุ้น – “เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น” เคาะราคาไอพีโอหุ้นละ 2.50 บาท คิดเป็นค่าพีอีเรโชว์ 11.57 เท่า เปิดให้นักลงทุนจองซื้อระหว่างวันที่ 5-7 พ.ย.นี้  คาดฤกษ์ดีเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 15 พ.ย. 2562  ชูจุดเด่นผู้นำเสนอโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจร และได้รับ Gold Certified Partner จาก Cisco ผู้นำตลาดอุปกรณ์ โครงข่ายของโลก มั่นใจแนวโน้มเติบโตสูง รับอานิสงส์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเติบโตตามแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบายประเทศไทย 4.0  และแผนพัฒนาดิจิทัล หนุนธุรกิจแข็งแกร่งเติบโตสูง มั่นใจพื้นฐานแน่นมี Backlog ตุนไว้กว่า 378.42 ล้านบาท คาดได้รับงานโครงการต่อเนื่อง  มั่นใจกระแสตอบรับดีเยี่ยม

นางสาวพัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชน (IPO) ของบริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) TPS เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้กำหนดราคาเสนอขายไอพีโอ จำนวน 80 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.50 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยจะเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่  15  พฤศจิกายน 2562  ในกลุ่มเทคโนโลยี โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า TPS

สำหรับการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้ ได้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายชั้นนำ 5 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) , บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด  , บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  , บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด

สำหรับราคาขายหุ้นไอพีโอของ TPS  กำหนดราคาที่ 2.50 บาท/หุ้น คิดเป็นค่าพีอีเรโชว์  11.57 เท่า โดยเปรียบเทียบกับค่า P/E เฉลี่ยของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกัน ซึ่งเทรดที่ P/E 15.6 เท่า และเปรียบเทียบกับ P/E ของกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเทรดอยู่ที่  P/E 20.68 เท่า โดย P/E ดังกล่าวคำนวณจากผลประกอบการในอดีต 4 ไตรมาสย้อนหลัง โดยที่ยังมิได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานในอนาคตจาก (1) โอกาสในการเข้าประมูลงานเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศ และการลงทุนของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 (2) การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบ จากการต่อสัญญาของลูกค้าเดิม และสัญญาจากลูกค้าใหม่ตามการขยายฐานลูกค้าโครงการเพิ่มขึ้น และ (3) อัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายที่คาดว่าจะดีขึ้น จากความประหยัดต่อขนาดรายได้ตามการเพิ่มขึ้นของฐานรายได้จากงานโครงการ ซึ่งคาดว่า P/E จะลดลงได้อีกมาก ซึ่งราคาดังกล่าวถือว่าเป็นระดับราคาที่มีส่วนลดให้กับนักลงทุนในระดับที่น่าพอใจ

โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการเข้าไปทำโครงการได้ขนาดใหญ่ขึ้นและต่อยอดธุรกิจได้มากขึ้น ในขณะที่บริษัทฯมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์ที่จะสามารถสร้างธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามการเติบโตของอุตสาหกรรม IT  ด้วยปัจจัยที่สนับสนุนสำคัญคือการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีงบประมาณรายจ่ายมากถึง 3 ล้านล้านบาท สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อส่งเสริมสังคมดิจิทัลและสร้างการเข้าถึงการใช้บริการสื่อสารอย่างเท่าเทียม ตามแผนการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี (ประเทศไทย 4.0) และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) มุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ส่วนการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภาคเอกชนก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน จากการเปลี่ยนแปลงจากระบบ 4G ไปสู่ 5G ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนในด้านนี้มากขึ้น ซึ่ง TPS มีแผนขยายไปรับงานในส่วนของภาครัฐมากขึ้นจากนโยบายประเทศไทย 4.0 และการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งคาดว่าบริษัทฯจะมีส่วนร่วมในการเข้าประมูลงานใหม่ จากจำนวนงานที่เพิ่มขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะยาว

สำหรับสัดส่วนการเสนอขายแบ่งเป็นการเสนอขายให้แก่ กรรมการและผู้บริหารและผู้มีอุปการะคุณของบริษัทฯประมาณ 25%  ที่ราคา IPO ส่วนที่เหลือจัดสรรให้กับผู้มีอุปการะคุณของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ โดยผู้ถือเดิมนำหุ้นส่วนที่เหลือจากที่ติด Silent มาติด Lock Up ทั้งหมด

“มั่นใจว่าการเสนอขายหุ้น ไอพีโอในครั้งนี้ จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมพื้นฐานด้านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ครบวงจร ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ มีเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 5 แสนล้านบาท จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และนโยบายประเทศไทย 4.0 ทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคสู่สังคมดิจิทัล และนวัตกรรมเทคโนโลยี IT ใหม่ๆ ทั้ง Blockchain, Big Data, AI, Cloud   ในขณะเดียวกัน TPS  ยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ภายหลังการระดมทุนในครั้งนี้จะทำให้ D/E จะลดลงต่ำกว่า 1 เท่า และสามารถที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมาก จากการรับงานโครงการใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง  จึงมั่นใจว่าจะเป็นหุ้นที่มีอนาคตดี และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน” นางสาวพัชพร กล่าวในที่สุด

นายบุญสม กิจเกษตรสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) TPS กล่าวว่า บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ ไปใช้ในการขยายธุรกิจ ประกอบด้วย นำไปใช้ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operation Center: NOC) การจัดตั้งศูนย์แสดงข้อมูลระบบรักษาความปลอดภัยและระบบการติดต่อสื่อสาร (DEMO Data Center, Security & Collaboration)  ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจากการลงทุนซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

สำหรับการระดมทุนครั้งนี้จะช่วยรองรับโครงการลงทุนต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงจะช่วยเพิ่มฐานทุนให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการเข้าประมูลงานในโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ที่สำคัญปัจจุบัน TPS  มีโครงการในมือรอรับรู้รายได้ประมาณ 378.42 ล้านบาท และยังไม่นับรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา ภาครัฐและเอกชน ที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีอัตราการเติบโตของรายได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องในอนาคต

อนึ่ง TPS มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง รายได้จากการขายและบริการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 เติบโตกว่า 55% ในขณะที่กำไรสุทธิเติบโตกว่า 503 %  โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นประมาณ 34 %

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการในปี 2559 – 2561 และงวด 6 เดือนแรกปี 2562 เท่ากับ 595.97 ล้านบาท 847.54 ล้านบาท 536.58 ล้านบาท และ 321.31 ล้านบาท

www.mitihoon.com