หรือว่าทั่วโลกกำลังเดินสู่กับดักเศรษฐกิจ

159

จากอดีตสู่ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกได้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยในทุกครั้งก็ย่อมมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์ เช่นเดียวกับในปัจจุบัน ที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่เผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีอัตราเติบโตในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน โดยส่งผลให้รัฐบาลต้องระดมใช้นโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลัง อย่างไรก็ดี เครื่องมือเหล่านี้ช่วยพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้แค่ในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถส่งผ่านให้เกิดการบริโภคและการลงทุนในระยะยาวได้ นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมที่เพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยที่คอยกดดันญี่ปุ่นอยู่อีกด้วย โดยสิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่อาจทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางไม่มีเครื่องมือมากพอที่จะรองรับในกรณีที่เกิด External shock ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าว ก็เหมือนเป็นกับดักที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่และมีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่วงจรเดียวกับญี่ปุ่นเช่นกัน

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจการทำงานของระบบเศรษฐกิจกันก่อนนะครับ จะได้เห็นภาพของปัญหาและความเสี่ยงดังกล่าวชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจากบทความ “How The Economic Machine Works” ของ Ray Dalio ได้อธิบายถึงระบบเศรษฐกิจจากมุมมองของการซื้อขาย (Transactions-based approach) โดยกล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจนั้นเกิดจากการรวมตัวกันของการทำธุรกรรมซื้อขาย ซึ่งการชำระราคาสินค้าของธุรกรรมซื้อขายนั้นอาจจะเป็นการใช้เงินสดหรือเครดิตก็ได้ ซึ่งเศรษฐกิจจะเติบโตได้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ที่สูงขึ้น โดยมีการใช้เครดิตเป็นพื้นฐานที่สำคัญหรือก็คือการกู้ยิมเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน  และจากการเติบโตที่แข็งแรงของเครดิตจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจนั้นเติบโตขึ้นอย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี หากหนี้จากการใช้เครดิตเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้จนทำให้ต้นทุนภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงเกินไป จะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะหดตัวจากความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่ลดลง

ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่า เศรษฐกิจในหลายประเทศต้องพึ่งพานโยบายการเงินและการคลังเป็นอย่างมาก เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจยังคงสามารถเติบโตต่อได้ โดย “ดอกเบี้ยนโยบาย” กลายเป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางทั่วโลกหยิบนำมาใช้เพื่อหวังกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของบางประเทศและบางแห่งอยู่ในระดับที่ใกล้ศูนย์หรือติดลบอีกด้วย เช่น ธนาคารกลางยุโรปที่ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 และมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางยุโรปให้กับธนาคารพาณิชย์ (deposit facility rate) อยู่ที่ระดับ -0.5% โดยต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงเป็นการกระตุ้นให้มีการกู้เงินเพื่อนำเอากำลังซื้อของอนาคตมาใช้ หรือเป็นการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้บริโภคในปัจจุบันนั้นเอง ถึงแม้ว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะสั้น แต่การใช้เครดิตก็มีข้อจำกัดเพราะอาจทำให้ผู้บริโภคมีหนี้สินล้นพ้นตัว และความสามารถในการชำระหนี้จะมีความตึงตัวมากขึ้น ส่งผลให้สุดท้ายจะเกิดความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายนั้นส่งผลให้ยอดหนี้สะสมทั่วโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยจากข้อมูลของ Institute of International Finance ยอดหนี้สะสมทั่วโลก ณ ไตรมาสแรกของปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 246.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 320% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งโลก ซึ่งจะเห็นได้จากกราฟหน้าถัดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงเล็กน้อยจากยอดสูงสุดในช่วงต้นปี 2018 แต่จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายของหลายประเทศทั่วโลกที่กระตุ้นให้คนกู้เงินง่ายขึ้น คาดว่ายอดหนี้สะสมจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ตึงตัวขึ้น นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจและการบริโภค โดย US Census ได้คาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ขึ้นไปจะมีสัดส่วนประมาณ 16.6% ของประชากรโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 9.3% ในปัจจุบัน

จากปัจจัยข้างต้นนี้ ทั้งภาวะหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ จนดูเหมือนกับว่าเศรษฐกิจโลกนั้นยึดติดกับการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะส่งผลให้หลายประเทศเข้าสู่วงจรทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นไม่สามารถส่งผ่านให้เกิดการบริโภคและการลงทุนอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ ทั้งนี้ SCB Chief Investment Office (SCB CIO) มองว่าเศรษฐกิจโลกนั้นอยู่ในช่วงที่มีความเปราะบาง ทั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ช้าลง รวมถึงประเด็นเชิงโครงสร้างทั้งภาระหนี้ที่มีมากขึ้นและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งคอยกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยในสภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว การวางแผนการลงทุนนั้นควรเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น และจำเป็นต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของผลกระทบหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงด้วย

เขียนโดย: คุณศรชัย สุเนต์ตา CFA, ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ Investment Advisory, SCB Chief Investment Office