SCC Q4 ฉายแววสดใส ดีมานด์ล้น-กูรูสั่งลุย (6/11/62)

386

มิติหุ้น – SCC คาดงบไตรมาส 4/62 ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน หลังราคา Spread ปิโตรเคมีเริ่มจำกัด “ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง-แพคเกจจิ้ง” ยังไปได้สวย ดีมานด์ต้องการใช้สูง ลุยผนึกจีนตั้งศูนย์ ‘SCG-CAS ICCB’ ทุ่ม 500 ล้านบาท ดึงนวัตกรรมเด่นตอบโจทย์ลูกค้า โบรกฯ คงคำแนะนำ “ซื้อ”

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ดำเนินธุรกิจการลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมีคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดยนักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 4/62 คาดจะทรงตัวและฟื้นตัวอ่อนๆ จากไตรมาสก่อน โดยคาดว่า downside ของ Spread ปิโตรเคมีเริ่มจำกัด เนื่องจาก Spread ณ ระดับปัจจุบันเริ่มใกล้เคียงต้นทุนของผู้ผลิตบางรายแล้ว และสัดส่วนรายได้ผลิตภัณฑ์ HVA ของ SCC ที่คิดเป็น 41% ของรายได้รวม จะทำให้ SCC ได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ผลิตเกรด Commodity ทั่วไป

งบQ4โต-ดีมานด์สูง

ขณะที่ “ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง” และ “ธุรกิจแพคเกจจิ้ง” จะเติบโตจากไตรมาสก่อนได้เล็กน้อย เนื่องจากจะกลับสู่ฤดูก่อสร้างหลังผ่านหน้าฝน และมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพื่อซ่อมแซมหลังเหตุการณ์น้ำท่วม และรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงงานบรรจุภัณฑ์ Visy เต็มไตรมาสครั้งแรก นอกจากนี้ ได้เงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามปัจจัยฤดูกาล และการผลิตที่เป็นปกติของ Chandra Asri
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ คาดผลประกอบการไตรมาส 4/62 จะเพิ่มขึ้นจากเงินปันผล และไม่มีรายการค่าใช้จ่ายพิเศษ (ภาษี และการตัดจำหน่าย) แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากธุรกิจเคมี และส่วนต่างราคา HDPE-naphtha ที่ลดลง และเป็นช่วงโลวซีซันของวัสดุก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม SCC มีแผนที่จะ IPO บริษัทลูก SCGP โดยหุ้นใหม่จะไม่เกินสัดส่วน 30% และผู้ถือหุ้น SCC จะได้สิทธิในการจองซื้อหุ้น IPO ก่อน ดังนั้น ยังคงแนะนำให้ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 498 บาท
ทุ่มงบดึงนวัตกรรมจีน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า เอสซีจี ได้ร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เพื่อร่วมกันพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 5 อุตสาหกรรม คือ เมืองอัจฉริยะ, ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์, เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง, ธุรกิจพลังงานใหม่ และสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยได้จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” เป็นครั้งแรกในไทย และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ การร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการร่วมมือด้านการลงทุน ซึ่งมุ่งสานต่อกลยุทธ์นวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และผลักดันนวัตกรรมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน ตอบโจทย์ตลาดและเทรนด์ธุรกิจในอนาคต ด้วยมูลค่าโครงการเริ่มต้นกว่า 100 ล้านหยวน หรือประมาณ 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปี 2561 ที่ผ่านมา เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) มากถึง 184,965 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39% ของยอดขายรวม โดยทุ่มงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท คิดเป็น 1% ของยอดขายรวม

www.mitihoon.com