คอลัมน์ KTBST Build Your Net Worth
สัปดาห์นี้ตลาดโลกกำลังให้ความสนใจกับการทำข้อตกลงของสหรัฐฯกับจีนว่าจะเกิดขึ้นช่วงใดแม้จะถูกคาดการณ์ว่าผลลัพธ์จะออกมาในทางบวก นอกเหนือจากเรื่องสหรัฐฯกับจีนแล้วสัปดาห์นี้ยังมีประเด็นที่น่าติดตามคือ ในวันที่ 14 พ.ย. จะมีการรายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี ของเยอรมันประจำไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะออกมาอยู่ที่ –0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งหากตัวเลขออกมาดังที่คาดจะเป็นการติดลบต่อเนื่องและทำให้เศรษฐกิจเยอรมันเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) แต่ประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจของเยอรมันจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป แต่หากเกิด Brexit ขึ้นในช่วงต้นปี 2020 อาจจะส่งผลกระทบต่อยุโรปและทำให้เศรษฐกิจเยอรมันชะลอตัวลงได้อีกครั้ง (Double dip)
นอกจากนี้ในวันเดียวกันจะมีการรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะอยู่ที่ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ 0.3% แต่คาดว่าตัวเลขอาจจะออกมาเติบโตเป็นบวกเหนือความคาดหมายได้ เนื่องจากมีการบริโภคที่สูงขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. เนื่องจากการเกิดภัยพิบัติพายุไต้ฝุ่นตลอดในช่วงไตรมาสที่ 4 ทำให้ประชาชนมีการตักตุนสินค้าเพื่อบริโภค แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและฐานการบริโภคที่สูงผิดปกติ จึงคาดว่าไตรมาส 4 อาจชะลอตัวลง ทั้งนี้มองว่า จีดีพี ของทั้งยุโรปและญี่ปุ่นอาจจะเห็นการฟื้นตัวได้ในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเป็นหลัก หากมีความชัดเจนของการเจรจาการค้าก็เป็นผลในเชิงบวกต่อประเทศทั้ง 2
ขณะที่ในวันที่ 15 พ.ย. จะมีการรายงานตัวเลขดัชนีค้าปลีกของสหรัฐฯ คาดว่าจะออกอยู่ที่ 0.2% ฟื้นตัวจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งติดลบที่ระดับ -0.3% และคาดว่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีที่จะเข้าสู่เทศกาลสำคัญต่างๆ
สำหรับภาพของตลาดการลงทุน หุ้นไทยเมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) โดยเทขายหนักมากเมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้าน ดัชนีปิดทำการที่ระดับ 1,622.12 จุด – 15.73 จุด หรือ -0.96% ปัจจัยหลักที่มีผลต่อตลาดอยู่การทำข้อตกลงทางการค้าของสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่มีกำหนดออกมาแน่ชัดว่าจะเป็นเมื่อใด ขณะเดียวกันการชุมนุมในฮ่องกงที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่อทางตลาดหุ้นไทยในทางอ้อม แต่ยังประเมินว่าแรงขายน่าจะลดลงและดัชนีกลับมาปรับตัวขึ้นได้ (Technical rebound) แต่ภาพของตลาดโดยรวมยังน่าจะเคลื่อนไหวแกว่งตัวในกรอบแคบเพื่อรอความชัดเจนการทำข้อตกลงทางการค้า
ทั้งนี้ตลาดหุ้นในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น เคลื่อนไหวในเชิงบวกรับข่าวการทำข้อตกลงทางการค้าในวาระแรกที่จะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันผลประกอบการไตรมาส 3 ของทั่วโลกพบว่าตลาดสหรัฐฯออกมาดีที่สุดคือโตอยู่ประมาณ 5% เมื่อเทียบกับตลาดอื่นที่ออกมาทรงตัว ส่วนผลกำไรของตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่คาดโดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีที่กำไรลดลงมาก
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ทำให้เกิดแรงขายกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกมามากจนมองว่าราคาที่น่าสนใจ อีกทั้งกองทุน SEF ที่กำลังจะออกมาทดแทนกองทุน LTF จะเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ดังนั้น KTBST มองว่าในช่วงอาจเป็นจังหวะเข้าลงทุนเพื่อเก็งกำไรล่วงหน้าในหุ้นกลุ่มนี้ได้
ส่วนการหาจังหวะลงทุนในช่วงนี้ แนะนำหุ้นที่ปรับตัวลงมากรวมไปถึงหุ้นที่มีผลกำไรไตรมาส 3 ออกมาดี เช่น ธนาคาร , ปิโตรเคมี ,โรงกลั่นน้ำมัน , อีเล็คทรอนิคส์ , โรงแรม ติดตามข่าวสารการลงทุนได้จาก ”มุมความรู้” https://www.ktbst.co.th/th/knowledge.php
โดยชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์
บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST)
www.mitihoon.com