เปิดประตู SMEs สู่ตลาดทุน รุก เร็ว แต่รอบคอบ

53

มิติหุ้น-วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญและแก้ไขความยากจนของประเทศ โดยมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านบาท หรือ 43% เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ภาครัฐจึงมีนโยบายในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็ง มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา SMEs ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าระดมทุนในตลาดทุนได้ เนื่องจากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มีหลักการและกลไกในการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เข้มข้น และมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์เดียวสามารถใช้กับกิจการทุกขนาด (one fit for all)  จึงไม่เอื้ออำนวยสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐและมีหน้าที่กำกับและพัฒนาตลาดทุนไทย พร้อม “เปิดประตูตลาดทุน” ให้กับ SMEs เพื่อให้ตลาดทุนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับกิจการทุกขนาดอย่างแท้จริง โดยยังคงคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ จึงเน้นความร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของ SMEs เพื่อให้การกำหนดมาตรการต่าง ๆ เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้เกิดความสมดุลสำหรับฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน

ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ก.ล.ต. จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา SMEs ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 12 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา ข้อจำกัด และกำหนดแนวทางต่าง ๆ ที่จะช่วยลดอุปสรรคที่เคยมี รวมทั้งยังจัดตั้ง “คณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน สู่ตลาดทุนไทย” เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบาย ทิศทาง เป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้  ซึ่งจากการหารือ พบว่า ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ SMEs ยังไม่เข้าถึงตลาดทุน มีหลายสาเหตุ อาทิ ผู้ประกอบการ SMEs ยังไม่เห็นประโยชน์หรือความจำเป็นของตลาดทุน และยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ และที่สำคัญคือกฎเกณฑที่เกี่ยวข้องยังไม่เอื้ออำนวยต่อการระดมทุนของ SMEs เท่าที่ควร

ก.ล.ต. จึงได้กำหนดแผนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และได้มีการขับเคลื่อนงานไปแล้วหลายส่วน ดังนี้

  1. จัดสัมมนาและกิจกรรมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระดมทุนในตลาดทุนแก่ผู้ประกอบการSMEsในต่างจังหวัด เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางการระดมทุนผ่านตลาดทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการต่างจังหวัด เห็นประโยชน์ที่จะได้รับของการเข้าตลาดทุน และข้อมูลการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นในการเข้าสู่ตลาดทุน รวมไปถึงการเปิดคลินิกให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจระดมทุนผ่านตลาดทุนด้วย

โดยตั้งแต่เดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2562 ก.ล.ต. ได้ลงพื้นที่ต่างจังหวัดภายใต้โครงการ “คาราวาน ก.ล.ต. ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัด” ไปแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าฟังประมาณ 500 คน นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังร่วมมือกับหน่วยงานอื่น อาทิ ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านตลาดทุนแก่ผู้ประกอบการภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอีกด้วย

  1. จัดทำร่างหลักเกณฑ์เพื่อเตรียมเปิดรับฟังความเห็น สำหรับการระดมทุนของSMEsซึ่งเป็นบริษัทจำกัดให้สามารถเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพต่อผู้ลงทุนและพนักงาน เพื่อช่วยให้กิจการสามารถระดมทุนได้สะดวกมากขึ้น และยังเป็นการจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงานได้มากขึ้น และได้มีการหารือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถึงแนวทางการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ SMEs สามารถระดมทุนได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำหรับสำหรับ SMEs ที่เข้าข่ายเป็นวิสาหกิจขนาดกลางตามนิยามของ สสว. ก.ล.ต. จะหารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อทบทวนเกณฑ์อนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนและเกณฑ์รับหลักทรัพย์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับขนาดและประเภทของ SMEs

  1. จัดทำแผนพัฒนาช่องทางการลงทุนในกิจการSMEsซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบกองทุนหรือทรัสต์ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่กลุ่มผู้ที่สนใจลงทุนในกิจการ SMEs อย่างไรก็ดี เนื่องจากการลงทุนในกิจการ SMEs ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก และมีความเสี่ยงจากการลงทุนมากกว่าบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. อาจจะต้องพิจารณาประเภทผู้ลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้มีการดำเนินการอื่น ๆ เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เพื่อร่วมกันสนับสนุน SMEs ที่อยู่ภายใต้การดูแลและพัฒนาของ กสอ. ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนด้วยเช่นกัน

แม้ว่า แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงตลาดทุน ที่ ก.ล.ต. ได้ริเริ่มขึ้นนั้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม แต่หากสามารถทลายกำแพงและเปิดประตูตลาดทุนให้กับ SMEs ได้อย่างแท้จริงแล้ว จะเป็นการทำให้ตลาดทุนมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่งอย่างแน่นอน