มิติหุ้น – นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานของกลุ่มสามารถในไตรมาส 3 ปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 3,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 3 เปอร์เซนต์ กำไรสุทธิ 124 ล้านบาท เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือน มีรายได้ทั้งสิ้น 11,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 29 เปอร์เซนต์ เป็นกำไรสุทธิ 381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน”
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจและการบริหารงานในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสายธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับกลุ่มสามารถ ได้แก่ สายธุรกิจ ICT Solution & Service ซึ่งบริหารงานโดยกลุ่มบริษัท SAMART TELCOMS “STC” มีรายได้ในไตรมาส 3 ทั้งสิ้น 1,950 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 80 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3 มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่ มูลค่ารวม 1,734 ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมทหาร ของกองบัญชาการกองทัพไทย , โครงการต่อสัญญาจ้างให้บริการและบำรุงรักษาระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง หรือ CUTE ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย , โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดพื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ และโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและพังงา ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท SAMART TELCOMS “STC” ตลอด 9 เดือน มีรายได้และกำไรสูงขึ้น เฉลี่ยกว่า 30 เปอร์เซนต์ โดยมีรายได้รวม 7,221 ล้านบาท และกำไร 310 ล้านบาท รวมแล้วมีโครงการในมือ มูลค่าทั้งสิ้นกว่า 9,000 ล้านบาท ที่สำคัญในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังมีงานที่รอการประมูลอีกกว่า 30 โครงการ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท อาทิ โครงการของธนาคารออมสิน และบมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นต้น
กลุ่ม SAMART Digital (SDC) มีผลประกอบการที่เริ่มขยับไปในทิศทางบวก โดยในไตรมาส 3 ปี 62 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 280 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจ Digital Network และธุรกิจ Digital Content ที่ล่าสุดบริษัท isport ได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในการให้บริการอุปกรณ์ VAR (Video Assistant Referee) เป็นเวลา 3 ปี (2020-2022) โดยในปี 2019 เป็นการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และการฝึกสอนผู้ตัดสินและทีมงาน เพื่อการใช้งานจริงในปี 2020 โดยมีมูลค่าสัญญา 46 ล้านบาท รวมถึงอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ โดยการจับมือกับบริษัทแคทบัซซ์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของบริษัท กสท.หรือ CAT ในการติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟทั่วประเทศ หรือ Premium free WIFI โดย SDC จะมีรายได้จากการเข้าไปหาพื้นที่และติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟ พร้อมดูแลรักษาตลอด 5 ปี (นับจากติดตั้ง) โดยตั้งเป้าติดตั้งจำนวน 10,000 จุด ภายในปี 2020 และ 30,000 จุด ภายใน 3 ปี ล่าสุดได้บรรลุข้อตกลงกับกรมอาชีวะ ในการติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟในสถาบันอาชีวะกว่า 400 แห่ง
กลุ่ม SAMART U–Trans หรือ “SUT” นำโดย บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิสเซส จำกัด ที่สร้างรายได้ประจำให้กับกลุ่มสามารถอย่างต่อเนื่อง มีรายได้ในไตรมาส 3 กว่า 500 ล้านบาท รวม 9 เดือน มีรายได้แล้วกว่า 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้ กลุ่ม SAMART U–Trans ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจการควบคุมจราจรทางอากาศในหลายๆ ประเทศ รวมถึงโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นสายธุรกิจที่เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสร้างรายได้ประจำให้แก่กลุ่มสามารถอย่างต่อเนื่อง
สุดท้าย สายธุรกิจเทคโนโลยีอื่นๆ โดย บมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ มีรายได้เฉพาะไตรมาส 3 จำนวนทั้งสิ้น 188 ล้านบาท คิดเป็นกำไรถึง 26 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึงกว่า 500 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรวมถึงรายได้อื่นๆซึ่งเป็นการชำระหนี้ของลูกค้าจำนวน 25.6 ล้านบาทด้วย และมีการเซ็นต์สัญญาโครงการเฉพาะในไตรมาส 3 ไปแล้วมูลค่า 254 ล้านบาท ส่งผลให้เมื่อสิ้นไตรมาส 3 OTO มีงานคงค้างในมือแล้วทั้งสิ้น 839 ล้านบาท และคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายจะยังมีโอกาสเข้าร่วมประมูลอีก 19 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 110 ล้านบาท ด้านบจก.วิชั่นแอนด์ซิเคียวริตี้ คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2562 จะเติบโตทั้งรายได้และกำไรเฉลี่ย 20 เปอร์เซนต์ โดยมีโอกาสจากโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดในกทม. และภาคใต้ ที่ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น
www.mitihoon.com