RATCH เผยปี 63 รับรู้กำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 395.54 MW

59
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ราช กรุ๊ป หรือ RATCH โดยนายกิจจา ศรีพัฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวมทั้งสิ้น 7,057 MW ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและทยอยจ่ายกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปี 62 จนถึงปี 63 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย 102.5 MW, โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย 24 MW, โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน 149.94 MW ส่งผลให้ในปีหน้าบริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากกำลังผลิตที่เข้าใหม่ รวมทั้งสิ้น 276.43 MW หากรวมโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นที่จะรับรู้รายได้เต็มปีในปี 63 จะทำให้กำลังผลิตเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 395.54 MW รวมกำลังผลิตเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการผลิตในปี 2563 เป็น 7,333.11 MW จากกำลังผลิตที่ลงทุนแล้วทั้งหมด 9,341 MW
ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 62 มีความก้าวหน้าตามเป้าหมาย โดยผลประกอบการยังมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง บริษัทฯ มีกำไรสำหรับงวด จำนวน 5,058.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว และมีรายได้รวมจำนวน 33,611 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ คือรายได้ค่าขายไฟจากโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ และบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น รวมจำนวน 27,384 ล้านบาท คิดเป็น 81.5% ของรายได้รวม และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 3,517.29 ล้านบาท คิดเป็น 10.5% ของรายได้รวม ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกำไรสำหรับงวด จำนวน 5,058.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว
ส่วนการขยายการลงทุนมีทั้งโครงการโรงไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประกอบด้วย การเข้าซื้อหุ้น 99.97% ในโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น กำลังผลิต 119.11 เมกะวัตต์, การเข้าซื้อหุ้น 70% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิต 214.20 MW, และการพัฒนาโครงการพลังงานลมคอลเลกเตอร์ กำลังผลิต 226.8 MW ในออสเตรเลีย ซึ่งทั้ง 3 โครงการ บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 446.57 MW
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) เข้าร่วมประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าประมาณ 33,000 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากกรมทางหลวงแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากโครงการเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น (ถือหุ้น 35%) ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนมิถุนายน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน 1 ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 26.61% เมื่อปลายปีที่แล้ว อีกทั้งยังคาดหมายว่าโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย จะเริ่มสร้างรายได้เสริมความมั่นคงทางการเงินของบริษัทฯได้ในปลายปีนี้ และจะรับรู้ส่วนแบ่งเต็มที่ในปี 63 เป็นต้นไป
“การลงทุนในโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น จะช่วยสร้างฐานธุรกิจลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพราะโครงการสามารถเข้าไปช่วยรองรับความต้องการไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครได้  นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้น้ำหนักการลงทุนเพิ่มในธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยมีกลุ่มพันธมิตรหลักบีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งจะเข้าร่วมประมูลในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม และการบริการสาธารณะต่างๆ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนอีกหลายโครงการ”  นายกิจจา กล่าว
www.mitihoon.com