หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดโลก (Bond Yield) ปรับลดลงไปแตะจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ บอนด์ยิลด์เริ่มฟื้นตัว โดยประเด็นสงครามการค้าที่พลิกกลับไปมาและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับรูปแบบการถอนตัวของ สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ซึ่งเป็นสองปัจจัยหลักที่คอยรุมเร้าบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงตลอดช่วงที่ผ่านมานั้น เริ่มมีสัญญาณคลี่คลายลงตามลำดับ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯได้ยกเลิกแผนปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ในวันที่ 15 ตุลาคม จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนนี้ มีกระแสข่าวว่าสหรัฐฯกับจีนอาจตกลงทยอยยกเลิกภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากสินค้าของอีกฝ่ายในข้อตกลงเฟสแรก แม้ผู้นำสหรัฐฯจะยังคงสงวนท่าทีในเรื่องดังกล่าวก็ตาม ส่วนอีกฟากหนึ่งของมหาสุมทรแอตแลนติกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) และ สหราชอาณาจักรบรรลุข้อตกลง Brexit ใหม่ และหลังจากนั้นอียูได้เลื่อนเส้นตาย Brexit ออกไปอีก 3 เดือนเป็นวันที่ 31 มกราคม 2563 โดยทั้งหมดเป็นที่แน่ชัดว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามหลีกเลี่ยงการถอนตัวแบบไร้ข้อตกลง หรือ No-deal Brexit
ภาวะ Risk-on ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยติดต่อกันถึง 3 ครั้งในปีนี้แม้ข้อมูลการจ้างงานและดัชนีภาคบริการล่าสุดออกมาแข็งแกร่งเหนือความคาดหมาย Sweet Spot นี้ทำให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไป หลังจากซึมซับข่าวร้ายไปพอสมควร ผู้เล่นในตลาดมองโลกในแง่ดีมากขึ้น สะท้อนจากสินทรัพย์ที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย อาทิ เงินเยน ทองคำ และพันธบัตรรัฐบาล ราคาปรับตัวลดลง ความผันผวนที่ลดต่ำลง (วัดจาก VIX index กราฟด้านล่าง) จูงใจให้เกิดการปรับพอร์ตโยกย้ายเงินเข้าสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำสถิติแตะระดับสูงสุดใหม่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน ส่วนบอนด์ยิลด์รุ่น 10 ปีของฝรั่งเศสพลิกกลับมาอยู่ในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือนกรฎาคม หันมาดูที่พันธบัตรไทย ยิลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยเส้นอัตราผลตอบแทนมีลักษณะชันขึ้น หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 1.25% เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ขณะที่ผู้เล่นในตลาดคาดว่าอาจเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของวัฎจักรแล้ว
เงินเยนมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันและอ่อนค่าลงในระยะนี้จากบรรยากาศการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงที่สดใสขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองอย่างระมัดระวังว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นในตลาดโลกนั้น หากดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันสั้นอาจเป็นบททดสอบความอดทนต่อความเสี่ยงของนักลงทุนอีกรอบ ขณะที่ทิศทางการค้าโลกรวมถึงการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง และเส้นทางการอ่อนค่าของเงินเยนอาจสะดุดลง
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com