KKP สินเชื่อพุ่งเขย่างบQ4แรง ยิลด์สูง-อัพไซด์เกิน46% (18/11/62)

407

มิติหุ้น-KKP หุ้นเด่น Dividend Yield สูง 6.8% ชี้ไตรมาส 4/62 โตฉลุย หลังรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนกำลังซื้อฟื้นดันสินเชื่อพุ่ง โชว์กลยุทธ์เน้นสินเชื่อรถมือสองเพราะให้ Yield สุดโต่ง ฮุบงาน IB เต็มมือ DOHOME-AWC-TMBควบTCAP  ชี้เป้า 97 บาท อัพไซด์กว่า 46%

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP  โดย “นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์” นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) เผยว่า ฝ่ายวิจัยแนะนำ “เพิ่มน้ำหนัก” เข้าลงทุนในหุ้น KKP เพราะขึ้นแท่นเป็นหุ้น Dividend Play ที่ราคาหุ้นยังมี Upside น่าสนใจ

สินเชื่อพุ่ง-Q4โตไม่หยุด

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/62 คาดกำไรสุทธิจะเติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการบริโภคในประเทศเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นตามการกระตุ้นของภาครัฐฯ ช่วยลดความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของพอร์ตสินเชื่อ รวมทั้งช่วยหนุนให้พอร์ตสินเชื่อยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ KKP มีแผนเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มี Yield สูงขึ้น และค่อนข้างมองบวกต่อธุรกิจ IB ที่จะรับรู้รายได้ที่ปรึกษาจากดีลควบรวม TMB-TBANK เข้ามามากขึ้น ทำให้ทั้งปี 62 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,949 ล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อน โดยคาดมีปันผลจ่ายจากกำไรช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 อีก 3 บาทต่อหุ้น คิดเป็นผลตอบแทนอีกราว 4.5% จึงแนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย 85 บาท Upside กว่า 28.78%

ชูยิลล์สูง6.8%-เป้า85บ.

ด้าน “นายเจษฎา เตชะหัสดิน” นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เผยว่า มีมุมมอง “เชิงบวก” เพราะคาดไตรมาส 4/62 ผลประกอบการจะเติบโตแข็งแกร่ง จากการเดินหน้าการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ภายหลัง KKP มีแผนจะเพิ่มสินเชื่อรถยนต์มือสองและสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์ (63% ของสินเชื่อ) ซึ่งสร้างผลตอบแทนที่ปรับความเสี่ยงได้สูงกว่าสินเชื่อรถยนต์ใหม่ (37%) ค่าใช้จ่ายด้านสำรองทั้งหมดยังถือว่าไม่เป็นปัญหา เนื่องจากการเติบโตของ NII ยังคงแข็งแกร่ง ดังนั้นธนาคารสามารถสร้างผลกำไรที่ดีจากสินเชื่อรถยนต์มือสองและสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์ โดยปี 62 คาดการณ์เงินปันผลต่อหุ้นที่ 4.50 บาทสำหรับปี 2562 ซึ่งคิดเป็นอัตราผลตอบแทน 6.8% แนะนำ “ซื้อ”เป้าหมายที่ 85 บาท

คุณภาพสินทรัพย์แกร่ง

พร้อมกันนี้คาดคุณภาพสินทรัพย์จะค่อยๆ ดีขึ้นในปี 63 จากผลขาดทุนที่ลดลงจากยอดขายรถยนต์ที่ถูกยึดคืน ธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ โดยเฉพาะผู้พัฒนาอสังหาฯที่มี Backlog ต่ำและสินค้าคงคลังสูง สำหรับการดำเนินการตาม TFRS9 ในปี 63 KKP อาจคลายสำรองส่วนเกินบางส่วน เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ปัจจุบันมีมากเกินพอ ซึ่ง KKP เป็นสินเชื่อที่เน้นสินทรัพย์และมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม HP และ RE ดังนั้นคุณภาพของหลักประกันจะสูงและคุ้มค่า ล่าสุด “บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส” แนะนำ “ซื้อ” KKP เป้าหมาย 97 บาท Upside กว่า 46.96%

ด้าน “นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKP เผยว่า ปี 62 คาดสินเชื่อรวมจะเติบโต 5% จากปีก่อน จากปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ที่ 105,000 ล้านบาท ส่วน NPLจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถมือ 2 ที่ปัจจุบันมี NPL อยู่ที่ 2.6% ส่งผลให้ NPL รวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% ตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะควบคุมไม่ให้เกิน 4% โดยธนาคารมุ่งเน้นหารายได้จากธุรกิจวานิชธนกิจ (IB) มากขึ้น ปี 62 คาดว่าจะทำรายได้ใกล้เคียงจากปีก่อนที่มีรายได้ 800 ล้านบาท โดยมีดีล IPO เช่น  DOHOME และ AWC และดีลควบรวม TMB และ TBANK

www.mitihoon.com