ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ชี้ตลาดส่งออกทุเรียนไทยปีนี้ทะลุ 50,000 ล้านบาท แนะรัฐหนุนเร่งให้ธุรกิจไทยแกร่งรับการเติบโตในอนาคต

69

มิติหุ้น- ท่ามกลางสถานการณ์ส่งออกไทยที่หดตัวในปีนี้  แต่ยังพบว่าการส่งออกทุเรียนของไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 37.3% ทำให้ครองแชมป์ส่งออกทุเรียนมากที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออกมากถึง 46,823 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ แน่นอนว่าตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นอันดับ 1 ในการนำเข้าทุเรียนทั้งโลก มีสัดส่วนถึง 65% รองลงมาเป็นเวียดนาม ฮ่องกง ตามลำดับ แต่ในความเป็นจริงทั้งเวียดนามและฮ่องกงล้วนมีการส่งออกต่อไปจีนทั้งสิ้น ซึ่งหมายความว่าทุเรียนที่ไทยส่งออกไป โดยเฉพาะทุเรียนสดมีปลายทางเป็นตลาดจีน ในขณะที่มูลค่านำเข้าของตลาดจีนมาจากไทย 70% หมายความถึงการส่งออกกระจุกตัวอยู่ที่ตลาดจีนเป็นหลัก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้ศึกษาโครงสร้างธุรกิจทุเรียนไทยตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในส่วนแรก คือ ชาวสวนทุเรียนซึ่งเป็นคนไทย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 8.4 แสนไร่ เพิ่มขึ้นจาก 20.6% ส่วนที่สอง “ล้ง” กลุ่มธุรกิจรับซื้อผลไม้จากไทยเพื่อการส่งออก ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงคัดบรรจุเพื่อรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรแล้วส่งออกมีจำนวน 617 ราย แยกเป็นนิติบุคคล 300 รายเป็นสัญชาติจีนถึง 35 ราย และเป็นบุคคลธรรมดาอีก 317 รายซึ่งเป็นชาวไทยเกือบทั้งหมด ส่วนสุดท้าย คือ ผู้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ มีจำนวนกว่า 216 ราย เป็นการถือหุ้นของจีนคิดเป็นส่วนประมาณ 30% ของรายได้ และใน 10 ลำดับแรกของการส่งออกเป็นบริษัทสัญชาติจีนอยู่ถึง 2 บริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงโอกาสของธุรกิจด้วยคนไทยยังมีข้อจำกัดอยู่

จากโครงสร้างดังกล่าว เห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจจีนมีศักยภาพในด้านเงินทุนและด้านตลาดที่ได้เปรียบกว่าธุรกิจหรือคนไทย แม้ว่าเกษตรกรไทยมีศักยภาพในเรื่องอุปทานมากขึ้น จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยโครงสร้างของธุรกิจในปัจจุบัน การที่ไทยจะสามารถส่งออกทุเรียนไปยังจีนยังต้องพึ่งพาศักยภาพ ความสัมพันธ์ของธุรกิจจีนอยู่ ธุรกิจของไทยเองยังมีช่องโหว่ในการเข้าถึงตลาดจีนอยู่  ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคในเรื่องกฏระเบียบการนำเข้าสินค้า การขาดข้อมูลด้านภาวะตลาดและราคาผลไม้จีน เนื่องจากจีนมีกฎว่าหากต้องการขายสินค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ของจีน จะต้องเปิดบัญชีธนาคารของจีนเท่านั้น ทำให้เกษตรกรบางรายขายทุเรียนให้ล้งจีนโดยตรง ผู้ประกอบการล้งและผู้ส่งออกไทยหลายๆรายยังต้องอาศัยชาวชาติเข้ามาร่วมดำเนินการหรือลงทุนด้วย หรือ เพื่อให้เข้าถึงตลาดส่งออกได้มากขึ้น การเข้าถึงตลาดออนไลน์ในจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

จากทิศทางการส่งออกที่มีมูลค่าเกือบ 50,000 ล้านบาทในปีนี้ และมีแนวโน้มความต้องการทุเรียนที่เพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงผู้ส่งออกต้องเร่งสร้างศักยภาพในด้านทำตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ผู้ประกอบการต้องพยายามทำให้สินค้ามีมาตรฐานที่สากลยอมรับได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใช้มาตรฐาน GAP (Good  Agricultural Practice : GAP) สำหรับเกษตรกร มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice : GMP) สำหรับโรงคัดบรรจุ เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับทุเรียนที่มีปัญหาและเพื่อรับรองมาตรฐานทุเรียนไทยที่ส่งออกที่มีคุณภาพ การส่งเสริมในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียน ทำให้แข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่มีผลผลิตมากขึ้น เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ภาครัฐฯต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพด้านการตลาดให้มากขึ้น การประสานงานและเจรจาการค้าเพื่อเปิดตลาด ด้านพิธีการศุลกากรระหว่างกันโดยเฉพาะกับตลาดจีน ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคให้ผู้ประกอบการไทยในการส่งออกอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนของไทยให้เข้าถึงตลาด เข้าถึงลูกค้าโดยตรงให้มากขึ้น แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกและด้านตลาดแก่ผู้ส่งผลไม้สดประเภทอื่น เช่น ลำไย มังคุด มะพร้าว ซึ่งผลไม้สดและแช่แข็งเหล่านี้รวมกันมีมูลค่ากว่า 70,000 บาทล้านบาทต่อไปและกลายเป็นสินค้าหลักสำคัญที่ส่งออกไปจีนในอนาคตต่อไป