มิติหุ้น-ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล หวั่นมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 50% ต่อวัน ทำได้ยากในทางปฏิบัติ พร้อมแนะรัฐออกมาตรการส่งเสริมนำใบอ้อยที่ยังไม่ถูกเผาไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยชาวไร่มีรายได้จากการขายใบอ้อยให้แก่โรงงาน เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง มีความกังวลต่อหลักการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 ของภาคครัฐ ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 50% ต่อวัน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้โรงงานน้ำตาลไม่มีสิทธิปฎิเสธรับอ้อยที่ชาวไร่จัดส่งให้แก่โรงงาน หากปฏิเสธรับอ้อยจากชาวไร่โรงงานต้องถูกลงโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้าโรงงานรับอ้อยไฟไหม้ในปริมาณเกินกว่า 50% ต้องถูกปรับอีกตันละ 12 บาท ตามบทลงโทษที่ กอน. กำหนดเพิ่มเติม แม้มิใช่ความผิดของฝ่ายโรงงานน้ำตาลและไม่ใช่หน้าที่ของโรงงานจะต้องรับผิดชอบแทนชาวไร่อ้อยก็ตาม
อย่างไรก็ดี 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เห็นว่า การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้เกิดการสูญเสียน้ำตาลในลำอ้อย และหากทิ้งอ้อยไฟไหม้ค้างไร่ หรือรอส่งเข้าหีบนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอ้อย ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานลดลง ทั้งการหีบสกัดน้ำตาล และการต้มเคี่ยวน้ำตาล อีกทั้ง หากไม่สามารถควบคุมและจัดการการเผาอ้อยอย่างถูกวิธี ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ แต่ด้วยปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานไม่ต้องการตัดอ้อยสด เนื่องจากตัดยากและตัดได้ในปริมาณน้อย ได้ค่าแรงน้อย ส่วนเครื่องจักรตัดอ้อยในประเทศ ยังมีจำนวนน้อยและราคาแพง ชาวไร่จึงยังจำเป็นต้องเผาอ้อย แม้ว่าจะถูกลงโทษปรับตันที่ละ 30 บาทก็ตาม
ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลได้รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด โดยหลายโรงงานมีการบริการตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่คู่สัญญา แต่ยังทำได้เป็นจำนวนน้อย ซึ่งภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งชาวไร่และโรงงาน ในด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจัดหาเครื่องจักรตัดอ้อยให้มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ควรสนับสนุนการจัดการแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักร เช่น การจัดระยะห่างของร่องอ้อย การรวมแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้สะดวกกับการทำงานของเครื่องจักร เป็นต้น
ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เห็นด้วยกับ กอน. ที่มีมติผ่อนปรน และปรับลดเป้าหมายใหม่ในปีแรก โดยให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ไม่เกินวันละ 50% จากเดิม 30% ต่อวัน เนื่องจากมาตรการสนับสนุนเงินกู้จัดซื้อรถตัดอ้อยที่มีความล่าช้า ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยั่งยืนนั้น ควรส่งเสริมให้ชาวไร่เห็นความสำคัญจากการจัดเก็บอ้อยสด ที่จะช่วยเสริมรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งอ้อยไฟไหม้ ซึ่งจะต้องถูกหักเงิน 30 บาทต่อตันอ้อย โดยภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมการนำใบอ้อยที่ยังไม่ถูกเผาหลังจัดเก็บผลผลิตไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นแรงจูงใจที่ดีในการจัดเก็บอ้อยสดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาล
“มาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ของภาครัฐ เป็นเรื่องที่โรงงานให้ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเผาอ้อยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเราไม่สามารถปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ที่ชาวไร่ส่งมอบให้แก่โรงงานได้และผลกระทบจากอ้อยไฟไหม้ที่รอเข้าหีบ หากทิ้งไว้หลายวันจะส่งให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยยิ่งลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยลดลงด้วย ดังนั้น แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด คือ ควรส่งเสริมให้ชาวไร่มีรายได้จากการจัดเก็บอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงานนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า เพื่อเป็นรายได้เสริมแก่ชาวไร่เพิ่มขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว