มิติหุ้น-ทีเอ็มบี จับมือ ไวซ์ไซท์ เผยข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกทางการเงินในโซเชียลมีเดียของกลุ่มคน “GEN Y” ผ่านแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 พบส่วนใหญ่มีความฝันสร้างอนาคตที่ดีและมั่นคง อยากมีบ้าน รถ และเงินออม ชี้พฤติกรรมการเงินที่ส่งผลให้ GEN Y ไปไม่ถึงเป้าหมายทางการเงิน พร้อมแนะทางแก้ปัญหาเพื่อให้ GEN Y มีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้น
คุณกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี เผยว่า “ทีเอ็มบี มีวิสัยทัศน์ของการเป็นการธนาคารแบบยั่งยืน (Sustainable Banking) ที่มุ่งมั่นให้ความรู้ทางด้านการเงิน พร้อมทั้งมีการใช้เครื่องมือกระตุ้นให้คนมีพฤติกรรมทางการเงินที่ถูกต้อง รวมไปถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยได้เน้นถึงกลุ่มคนเป้าหมายที่เป็น GEN Y ช่วงต้นอายุระหว่าง 23 – 30 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มกำลังแรงงานสำคัญของประเทศ เริ่มทำงาน มีรายได้ แต่ไม่มีการวางแผนทางด้านการเงิน ไม่สามารถจัดการบริหารการเงินได้อย่างเหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่พร้อมเปิดรับคำแนะนำ และความรู้ทางด้านการบริหารจัดการเงิน นั่นจึงเป็นที่มาของการร่วมมือระหว่าง ทีเอ็มบี และพันธมิตรอย่าง ไวซ์ไซท์ (WISESIGHT) ผู้นำด้าน Social Monitoring Tool รายใหญ่ของไทย ในการสร้างสรรค์แคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคน GEN Y ซึ่งมีการเปิดรับข้อมูล อัพเดทข่าวสารทางช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ติดตาม Influencers ที่มีแนวคิดคล้ายกัน ผ่านทางช่องทางโซเชียล โดยเฉพาะ Twitter และ เฟซบุ๊ก (Facebook) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต
“จะเห็นได้ว่าในเฟสแรกเราได้จุดกระแสด้วย Influencer อย่าง กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ กันต์ กันตถาวร และกาละแมร์ พัชรศรี ที่เป็นดาราเซเลบ มีแง่มุมในด้านการใช้ชีวิต ตั้งเป้าหมายด้านหน้าที่การงาน การเงินอย่างชัดเจน รวมไปถึง มิ้นท์ บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวจากเพจ I Roam Alone และ ช่า เจ้าของเพจบันทึกของตุ๊ด ที่เป็นไอดอลสร้างแรงบันดาลใจ มาร่วมแชร์เป้าหมายชีวิตให้คนที่ติดตามได้ฟังกัน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแฮชแท็กแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ที่สามารถติดเทรนด์ Twitter อันดับหนึ่ง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แชร์เป้าหมายชีวิตรวมแล้วกว่าหมื่นความคิดเห็น ทั้งนี้เพราะเราเชื่อว่าหาก GEN Y ได้ตระหนักถึงเป้าหมายในชีวิตแล้ว จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนพฤติกรรมตรงตามความเชื่อของทีเอ็มบี Make THE Difference ที่ว่าคนเราสามารถเปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จนสำเร็จ นอกจากนี้กิจกรรมต่อไปที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือนธันวาคมนี้ จะมีขึ้นเพื่อชักชวนให้ GEN Y ได้ลุกขึ้นเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior) ทางการใช้จ่าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายคนตั้งเป้าหมายที่จะได้เริ่มต้นสิ่งดี ๆ ในปีถัดไป”
ด้าน คุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไวซ์ไซท์เป็นผู้นำการให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลในประเทศไทย เรานำข้อมูลบนโซเชียล มาวิเคราะห์ และปลดล็อคศักยภาพของข้อมูลดิบจนกลายเป็นอินไซท์เพื่อส่งต่อให้แบรนด์ และเอเจนซี่นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยข้อมูลโซเชียลที่ไวซ์ไซท์ นำมาวิเคราะห์นั้นมาจาก Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, Pantip และเว็บไซต์ข่าวต่างๆ ปัจจุบัน เรามีข้อมูลดิบที่เก็บเอาไว้ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จำนวนมหาศาล ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในถัง Big Data และไม่เคยลบทิ้งเลยทำให้ในปัจจุบันเรามีจำนวนข้อมูลดิบมากที่สุดในประเทศไทย”
“ทั้งนี้ ไวซ์ไซท์รู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ จากจุดยืนที่ต้องการสร้างบรรทัดฐาน และส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ เราได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของ GEN Y เพื่อใช้ข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งในการวางกลยุทธ์ และสร้างปรากฏการณ์ปลุกกระแสคนในโลกโซเชียลกับแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ร่วมกับทางทีเอ็มบี โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำข้อมูลที่ได้ครั้งนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการใช้ชีวิตและวางแผนทางการเงินของกลุ่มคน GEN Y ในอนาคต”
คุณพุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงข้อมูลที่ได้จากวิเคราะห์เก็บข้อมูลดังนี้ “คนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียล) 74% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น อันดับ 8 ของโลก สำหรับจำนวนผู้ใช้ โซเชียล ในประเทศไทย พบว่าสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่ครองใจคนไทยในยุคนี้ และมีผู้ใช้งานบน Facebook 56 ล้านบัญชี Instagram 13 ล้านบัญชี และ Twitter 9.5 ล้านบัญชี และระยะเวลาที่ใช้คิดเป็น 3 ชั่วโมง 11 นาที เวลาเฉลี่ยใน 1 วัน และยังพบว่า 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกว่า 50% เป็นคน GEN Y (อายุ 28-38 ปี)”
“ดังนั้นในการทำแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ในครั้งนี้ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลถึงพฤติกรรมเชิงลึกของกลุ่มคน GEN Y ที่ได้จุดกระแสผ่านบรรดา Influencer จะเห็นได้ว่าการแสดงความคิดเห็น แชร์ มีความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกับ Influencer ที่กดติดตามกันดังนี้ คนที่ติดตาม กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ กันต์ กันตถาวร และกาละแมร์ พัชรศรี ก็จะเป็นเป้าหมายเรื่องการเก็บเงิน มีบ้าน สร้างความมั่นคงในชีวิต ด้านกลุ่มคนที่ติดตามบล็อกเกอร์สายเที่ยว ก็จะมีเป้าหมายเรื่องเที่ยว เรื่องการใช้ชีวิตอิสระเสรี”
“และหากลงลึกในด้านความคิดเห็นของในแต่ละแพลตฟอร์มนั้น ก็จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันไปอีกเช่นกัน อย่างเช่นในFacebook จะเป็นไปในทิศทางที่แสดงออกถึงความจริงจังในชีวิต แสดงออกถึงตัวตนด้านที่อยากให้คนอื่นเห็น #ของมันต้องมีก่อน40 ของชาว Facebook ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความมั่นคง เช่น อยากมีเงินเก็บ บ้าน รถยนต์ ธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น ส่วนทางด้าน Twitter นั้น จะเป็นไปในแนวทางที่มีความอิสระเสรี เป็นตัวของตัวเอง มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกับความเห็นใน Facebook ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินเพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ต อยากเจอศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ และอยากเลี้ยงแมว เป็นต้น จากการวิเคราะห์ Data ของแคมเปญในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า Influencer มีอิทธิพลทางความคิดให้ผู้ติดตามได้คล้อยตามง่าย ดังนั้นเมื่อเหล่า Influencer ลุกขึ้นมาทำอะไร จะเกิดกระแส เกิด Social Voice ในการทำตาม ซึ่งแน่นอนว่าในการทำแคมเปญครั้งนี้ เมื่อได้จุดกระแสออกไปแล้ว เกิดการตั้งคำถามให้กับกลุ่ม GEN Y ให้เกิดการฉุกคิดเกี่ยวกับเป้าหมายทางการเงิน เพื่อนำไปสู่แนวทางในการวางแผนชีวิตให้ดียิ่งขึ้น”
ด้านคุณนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ให้รายละเอียดถึงผลจากการสำรวจพฤติกรรมของ GEN Y บน โซเชียล พบว่าความหวัง “ของมันต้องมี” ก่อนอายุ 40 คือ อยากมีบ้าน (48%) รถยนต์ (22%) ขณะที่อยากมีเงินออมและสินทรัพย์อื่นๆ มีไม่มาก (13%) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับ GEN Y เมื่อวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษา พบว่ามียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า “ของมันต้องมี” ถึง 69% ขณะที่รายการซื้อบ้าน ซื้อรถที่เป็นความฝันมีสัดส่วนที่ลดลงมาก รวมทั้งสัดส่วนเงินออมมีไม่ถึง 10%
โดยเฉลี่ย GEN Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละเกือบแสนหรือ 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการซื้อโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า และนาฬิกา/เครื่องประดับ และถ้าขยายภาพให้ชัดเจนในแต่ละกลุ่ม GEN Y ใช้เงินไปกับ“ของมันต้องมี” ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี สาเหตุที่ GEN Y อยากได้ “ของมันต้องมี” เป็นเพราะซื้อตามเทรนด์กลัวเอ้าท์ (42%) มากกว่ามองเป็นของจำเป็น (37%) แถมเงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่ (70%) บอกมีเงินไม่พอ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อลงรายละเอียดพบว่ามากกว่า 70% ของ GEN Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย นอกจากนี้ GEN Y มีลักษณะเข้าทำนองฝันไกลแต่ไปไม่ถึง สะท้อนจาก GEN Y ที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่บอกจะออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย
GEN Y จะต้องทำอย่างไรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน สิ่งแรกที่แนะนำคือ ลดเงินที่ใช้กับ “ของมันต้องมี” ง่ายๆ โดยลดลงแค่ 50% (เชื่อว่าลดหมด 100% เป็นไปได้ยาก) ควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ แค่นี้ GEN Y จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 43,000 บาทต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือยาวไป 30 ปีก็จะสามารถซื้อทรัพย์สินตามที่เคยตั้งความหวังไว้ได้ไม่ยาก คุณนริศกล่าวปิดท้าย ด้วยข้อเสนอแนะสำหรับ GEN Y เพื่อให้สามารถวางแผนทางการเงิน และประสบผลสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้ได้ดียิ่งขึ้น