ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลด จากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าสหรัฐฯ – จีน

121

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 – 29 พ.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากแรงกดดันของการเจรจาการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังสองประเทศยังไม่สามารถหาข้อตกลงที่ทั้งสองพอใจได้ ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังรัสเซียไม่มีทีท่าในการปรับลดกำลังการผลิต ขณะที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดยังคงได้รับแรงหนุนจากการควบคุมปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปก เพื่อปรับสมดุลให้ตลาดน้ำมันดิบ โดยจะต้องจับตาความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มยืดเยื้อ หลังการลงนามข้อตกลงขั้นแรกระหว่างสองประเทศอาจถูกเลื่อนออกไปในปี 2563 แทน เนื่องจากยังไม่สามารถหาข้อสรุปการเจรจาที่น่าพอใจได้ โดยจีนต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกกำแพงภาษีนำเข้า ประกอบกับไม่พอใจที่วุฒิสภาสหรัฐฯ อนุมัติร่างกฎหมายสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง ขณะที่สหรัฐฯ ยังไม่พอใจเกี่ยวกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจะต้องจับตาดูการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าราว 156 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 15 ธ.ค. 62 ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งความคืบหน้าของการเจรจาการค้า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลก
  • ปริมาณน้ำมันดิบจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ คาดยังอยู่ในระดับสูงกว่าปริมาณที่ตกลงไว้กับกลุ่มโอเปก โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน พ.ย. 62 คาดอยู่ที่ระดับ 11.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซี่งสูงกว่าระดับในเดือน ต.ค. 62 ราว 20,000 บาร์เรลต่อวัน และ สูงกว่าระดับที่ตกลงไว้กับกลุ่มโอเปกที่ระดับ 11.17-11.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ รัสเซียยังไม่มีแนวโน้มที่จะร่วมในข้อตกลง หากกลุ่มโอเปกตัดสินใจที่จะปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าเดิม เนื่องจากจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิด หากหลุมขุดเจาะหยุดดำเนินการไป
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุด กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) 7 แหล่งจะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Permian คาดปรับเพิ่มราว 57,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 4.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • กำลังผลิตน้ำมันดิบจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ หลังกลุ่มโอเปกมองว่าปริมาณน้ำมันดิบในปี 2563 อาจล้นตลาดน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มที่จะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 63 ออกไปเป็นเดือน มิ.ย. 63 โดยยังต้องติดตามผลการประชุมของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 5-6 ธ.ค. 62 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ จีดีพีไตรมาส 3/2562 สหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน และอัตราว่างงานยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 22 พ.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขี้น 0.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากแรงหนุนของการเจรจาในสงครามการค้าที่ส่งสัญญาณดีขึ้นและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยสถาบันสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 15 พ.ย. 62 ปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน น้อยกว่าที่สถาบันปิโตรเลียมสากล (API) รายงานไว้ว่าปรับเพิ่มขึ้นราว 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับรัสซียเผยว่าจะร่วมมือกับกลุ่มโอเปกในการปรับสมดุลตลาดน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน เนื่องจากตลาดกังวลต่อภาวะน้ำมันดิบล้นตลาด หลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกในปี 2563 จะเติบโตราว 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปี 2562 ซึ่งเติบโตที่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

www.mitihoon.com