โรงงานน้ำตาลทราย ดีเดย์ 1 ธ.ค. เปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบ หนุนชาวไร่จัดส่งอ้อยสดเข้าหีบเพื่อประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย

55

มิติหุ้น-โรงงานน้ำตาลทราย พร้อมดีเดย์เปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ คาดมีปริมาณอ้อยเข้าหีบต่ำกว่า 110 ล้านตันอ้อย จากปัญหาภัยแล้งรุนแรง กดผลผลิตวูบกว่า 20 ล้านตันอ้อย หนุนชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดส่งมอบโรงงานเพื่อประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลที่ดี เพื่อเพิ่มรายได้ในการแบ่งปัน พร้อมร่วมมือหน่วยงานภาครัฐสกัดปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างเต็มที่

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรง พร้อมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยจากการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้คาดว่าจะลดลงจาก 130 ล้านตันในปีก่อน เหลือต่ำกว่า 110 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลลดลงเหลือประมาณ 12 ล้านตันหรือต่ำกว่า จากฤดูการผลิตก่อนหน้าที่ผลิตน้ำตาลได้ 14.58 ล้านตันน้ำตาล โดยปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ลดลงนั้น มาจากปัญหาภัยแล้ง ปริมาณฝนตกน้อยในทุกพื้นที่ปลูกอ้อย

สำหรับนโยบายการเปิดหีบอ้อยในปีนี้ ทุกโรงงานจะให้ความสำคัญกับคุณภาพอ้อยเข้าหีบจากชาวไร่ที่จัดเก็บผลผลิตนำส่งอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงาน เพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำตาลให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ชาวไร่ได้สูงสุดด้วย และยังช่วยลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลทราย พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ แม้ยากในทางปฏิบัติที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 50% เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้โรงงานห้ามปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ และหากปฏิเสธต้องเสียค่าปรับ 500,000 บาท หรือรับอ้อยไฟไหม้เกินกว่าที่กำหนดก็ต้องเสียค่าปรับ ทั้งที่โรงงานเป็นผู้รับซื้ออ้อยจากชาวไร่

ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้แบบยั่งยืน เช่น การรับซื้อใบอ้อยเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อเพื่อรถตัดอ้อยให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีรถตัดอ้อยเพียง 2000 คัน ที่มีความสามารถจัดเก็บผลผลิตได้ 40-45 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ชาวไร่เลือกวิธีการเผาอ้อยเช่นเดิม