นักวิจัยเผยหลักฐานการเปลี่ยนแปลงอากาศโลก จากหินงอกหินย้อย เตรียมรับผลกระทบในอนาคต

207

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (สกสว.)   จับมือ มูลนิธิวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (NSFC) ผนึกกำลังวิจัยตั้งรับปัญหา ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 สร้างวัฒนธรรมแบ่งปันความรู้ จับมือวิจัยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

ดร.โชติกา เมืองสง อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขานวัตกรรมการจัดการสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบวัฏจักร (Cycle) เช่น ดวงอาทิตย์จะเกิดปรากฎการณ์ วัฏจักรของจุดดำบนดวงอาทิตย์ (Sunspot Cycle) ทุกๆ 11 ปี โดยเหตุการณ์นี้จะส่งผลให้พลังงานแสงอาทิตย์ลดลง อากาศของโลกก็จะเกิดการแปรปรวนตามไปด้วย เมื่อรู้เช่นนี้แล้วจะทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าในอีก 11 ปีข้างหน้าหากเกิดเหตุการณ์นี้อีกจะต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร ทำให้การศึกษาถึงเหตุการณ์ในอดีตจึงมีความสำคัญที่จะช่วยบอกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก และใช้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันการพยากรณ์สภาพอากาศในอนาคตให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น

อาจารย์โชติกา กล่าวต่อว่า จากการคลุกคลีในวงการนี้มานานทำให้เห็นว่า ปัจจุบันเราสามารถศึกษาย้อนกลับไปได้เพียง 100 – 200 ปี ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆได้ 2 – 4 วัฏจักรเท่านั้น อาจไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้เป็นหลักฐานในการทำนายวิกฤตการณ์ใหญ่ๆ ได้ เนื่องจากการเกิดวิกฤตการณ์ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ภัยแล้ง หรือแม้กระทั้งการสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง เป็นต้น จำเป็นต้องย้อนกลับไปถึงหนึ่งหมื่นปี และเพื่อตอบคำถามถึงที่มาของปรากฏการณ์เหล่านี้ อาจารย์จึงเลือกศึกษากับหินงอกหินย้อยในถ้ำ และวงปีไม้ เพราะทั้ง 2 ตัวแปรนี้สามารถให้ค่าอายุที่แม่นยำ และมีการศึกษากันอย่างแพร่หลาย

อย่างในพื้นที่ ถ้ำคลัง จังหวัดกระบี่ และถ้ำภูผาเพชร จังหวัดสตูล ถูกใช้เป็นแหล่งการศึกษาอายุของหินงอกหินย้อย เนื่องจากเป็นอุทยานธรณีโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยการศึกษาจะใช้วิธีการวัดค่า ไอโซโทป (Isotope) ของ ออกซิเจน 18 ที่ได้จากปริมาณน้ำฝน วิธีการนี้เป็นการความแตกต่างขององค์ประกอบทางเคมีที่เฉพาะเจาะจงของธาตุนั้น ซึ่งถ้าผลการทดสอบมีค่าไอโซโทปมาก จะบ่งบอกว่าช่วงปีนั้นมีปริมาณน้ำฝนน้อย หรือกล่าวได้ว่าหินนั้นผ่านช่วงปีที่มีความแห้งแล้งมานั่นเอง ข้อดีของการศึกษานี้นอกจากจะได้ปริมาณน้ำฝนเป็นรายปีแล้ว ยังทำให้ทราบอีกว่าในแต่ละเดือนลักษณะฝนตกของไทยไม่เหมือนกัน เนื่องจากได้รับอิทธิพลความชื้นที่ต่างกัน นั่นคือ ในช่วงเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม จะได้รับอิทธิพลจากมหาสมุทรอินเดีย ส่วนในช่วง สิงหาคม – ตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากมหาสมุทรแปรซิฟิก

นอกจากนี้ผลการศึกษาย้อนกลับไปในระยะ 10 ปี พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของประเทศไทยเกิดจากปรากฏการณ์เอลนิญโญ (El Nino) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรสูงขึ้น โดยจะเกิดขึ้นทุก ๆ 5 ปีครึ่ง ในเขตเส้นศูนย์สูตรในฝั่งตะวันออก และตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบอากาศทั้งในเขตร้อนและรวมไปถึงอเมริกาเหนือและที่อื่น ๆ ส่วนผลการศึกษาย้อนกลับในช่วง 5,000 ปี ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนที่ของร่องมรสุมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศด้วย

ดังนั้นความท้าทายต่อไปของการศึกษานี้คือ จะต้องจับให้ได้ว่าช่วงปีไหนบ้างที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว และจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลากี่ปี ทั้งนี้ความแม่นยำที่ต้องการจะต้องได้รับองค์ความรู้อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาด้านจุลินทรีย์ การศึกษาด้านมหาสมุทร หรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการตอกย้ำถึงความถูกต้องในอดีต และวางแผนการรับมือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที