ในวัฒนธรรมอเมริกัน หลังวันขอบคุณพระเจ้า (วันพฤหัสบดีที่สี่ของเดือนพฤศจิกายน) คือ วัน Black Friday ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย ก่อนเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาส โดยในปีนี้ Black Friday ตรงกับวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน นอกจากนี้ ยังมี Cyber Monday ซึ่งเป็นการลดราคาของกลุ่มผู้ค้าปลีกออนไลน์ตามมาอีกด้วย แน่นอนว่าประเด็นสำหรับตลาดการเงินคือการจับสัญญาณความแข็งแกร่งของการใช้จ่ายส่วนบุคคลซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้นำการคาดการณ์นโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ปัจจุบันนักช็อปหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น กลยุทธ์การปรับตัวของผู้ค้าแต่ละรายเพื่อกระจายความสมดุลของช่องทางการจัดจำหน่าย รวมถึงการใช้ Big Data สู่การตอบโจทย์ผู้บริโภคในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีอิทธิผลต่อการเติบโตของยอดขาย หรือแม้กระทั่งการอยู่รอดของธุรกิจ นอกจากนี้ ท่ามกลางปรากฎการณ์ถดถอยของภาคการผลิตทั่วโลกและเศรษฐกิจในภาพใหญ่ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนของผลกระทบจากสงครามการค้า ข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ กลับบ่งชี้ถึงความสามารถรักษาแรงส่งเชิงบวกเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ดัชนีหุ้น S&P กลุ่มค้าปลีกตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวสูงขึ้น 25% นับตั้งแต่ต้นปี แม้จะน้อยกว่าดัชนี S&P 500 ซึ่งพุ่งขึ้น 26% (กราฟด้านล่าง) แต่ยังคงสะท้อน Sentiment ที่สดใสพอสมควร
มหกรรมช็อปปิ้งส่งท้ายปีในสหรัฐฯจะคึกคักมากเพียงใดยังคงเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม โดยหากมองไปข้างหน้าเราประเมินว่า ปี 2563 สถานการณ์ดอกเบี้ยทั่วโลกจะนิ่งขึ้น หลังจากที่ในปีนี้ ธนาคารกลางหลายแห่งพากันผ่อนคลายนโยบายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มลากยาวข้ามปี ส่วน Brexit คาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจนหลังการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรวันที่ 12 ธันวาคม 2562
โดยเรามองว่าสิ่งที่นักลงทุนจะให้น้ำหนักมากขึ้น คือ ความเสี่ยงทางการเมืองในสหรัฐฯ ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจกรณี Pro-growth Policy ของทรัมป์ไม่ได้รับการสานต่อซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันด้านขาลงต่อค่าเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเคลื่อนไหวสองทางและแข็งค่าในอัตราที่ช้าลงหลังจากเงินบาทติดหนึ่งในกลุ่มสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในโลกในปี 2562 และก่อนที่เทศกาลแห่งความสุขกำลังจะเวียนมาอีกหนึ่งปี ตลาดจะระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นล่าสุดของทางการที่ว่าเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน และเครื่องมือดอกเบี้ยอาจกำลังเผชิญข้อจำกัด
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com