กองทุน SSF เป็นประโยชน์สำหรับผู้มีรายได้น้อย แต่ผู้มีรายได้มากไม่มีทางเลือกอื่น

528

ทางหลักทรัพย์กรุงศรี ได้มีการศึกษาถึงหลักเกณฑ์การลงทุนใน SSF หลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมผ่านกองทุน SSF และปรับปรุงหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุน RMF โดยมาตรการดังกล่าวจะสนับสนุนให้นักลงทุนที่มีรายได้บุคคลธรรมดาต่ำกว่า 1.4 แสนบ./ด. เพิ่มการออม ไม่ว่าจะเป็นกองทุน SSF และ/หรือ RMF ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงกว่าระดับดังกล่าวจะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี แม้จะขาดเม็ดเงินกลุ่มนี้ไปแต่คาดว่าจะได้รับเม็ดเงินทดแทนจากกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการออมมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าซื้อในกองทุน SSF ที่ระดับ 7.1 – 8.4 หมื่นลบ. ระหว่างปี 2020-2024F อย่างไรก็ตามเม็ดเงินที่เข้าตลาดหุ้นอาจจะถูกลดทอนลงไปจากการเปิดกว้างในการลงทุนได้ทุกหลักทรัพย์ของ SSF

ลักษณะสำคัญของกองทุน SSF (Super Savings Fund) และเกณฑ์การลงทุนของ RMF

  1. SSF จะเป็นกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใหม่ที่จะมาแทน LTF ในปี 2020 นี้ โดยสิทธิประโยชน์จากการซื้อกองทุน LTF ที่กำลังจะหมดลงในปี 2019 นี้ ในปีหน้าผู้เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาจะมีกองทุน SSF (Super Savings Fund) มาแทนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษี
  2. นักลงทุนสามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ หรือไม่เกิน 2 แสนบาท โดยเมื่อรวมกับกองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาทในแต่ละปีภาษี
  3. กองทุน SSF เหมือนกับ LTF ในหลายกรณี… โดยสามารถซื้อได้โดยไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำ และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง โดยเงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยจะได้รับการยกเว้นเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากปฏิบัติตามเงื่อนไข
  4. …แต่กองทุน SSF สามารถลงทุนได้ในหลักทรัพย์ทุกประเภท ต่างกับ LTF ที่สามารถลงทุนได้ในเฉพาะตราสารทุนไทยเป็นหลัก (65%) และจะต้องถือครองเพิ่มขึ้นจากเดิม 7 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
  5. ปรับหลักเกณฑ์ RMF สามารถซื้อได้เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 30% ของรายได้ โดยเมื่อคิดคำนวณกับ SSF และกองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆแล้วจะต้องไม่เกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 5 แสนบาท/ปีภาษี และไม่มีขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF แต่ยังต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

ทั้งนี้การลงทุนSSF และ RMF ตามหลักเกณฑ์ใหม่สนับสนุนผู้มีรายได้น้อยกว่า 8.3 หมื่นบ./ด. แต่ยังได้รับประโยชน์มากกว่านโยบายเดิมจนถึงรายได้เฉลี่ย 1.4 แสนบาท/เดือน

  1. นโยบายใหม่เป็นแรงจูงใจให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.1 แสนบ./ด. ในการออมผ่านการลงทุนใน SSF และ RMF มากขึ้น ผู้ที่มีรายได้บุคคลธรรมดาได้รับสิทธิการออมที่เพิ่มขึ้นกว่าระบบ LTF + RMF เดิมมาก โดยจะได้สิทธิสูงที่สุดหากรายได้เฉลี่ยที่ 8.3 หมื่นบ./ด. (ลงทุนทั้งใน SSF + RMF) แต่อย่างไรก็ดีหากตัดสินใจลงทุนแค่ใน SSF สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจะเริ่มหายไปหลังจากรายได้เฉลี่ยแตะ 5.6 หมื่นบ./ด.
  2. โดยรวมได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจนถึงระดับรายได้ที่ 1.4 แสนบ./ด. ซึ่งจะเป็นจุดที่นักลงทุนกลุ่มนี้เริ่มเสียประโยชน์จากนโยบาย SSF + RMF ใหม่ ปัจจัยนี้จะเป็นแรงกดดันให้เม็ดเงินจากผู้ที่มีรายได้สูงไหลเข้าตลาดทุนน้อยกว่าปีก่อนๆ เพราะข้อจำกัดการลดหย่อนภาษีใหม่ที่ระดับ 5 แสนบ. (จากเดิมที่ 1 ลบ.) แต่อย่างไรก็ตามคาดว่านักลงทุนกลุ่มดังกล่าวไม่มีตัวเลือกมากนัก ยังต้องลงทุนในรูปแบบใหม่ที่เป็น SSF + RMF เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ทั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินไหลออกจากตลาดหุ้น เนื่องจาก SSF สามารถลงทุนได้ทุกหลักทรัพย์ โดยเราตั้งสมมุติฐานและคำนวณจากคาดการณ์ว่านักลงทุนจะถือสัดส่วนการลงทุนหุ้นผ่าน SSF อยู่ที่ระดับ 50% ของเม็ดเงินทั้งหมด

 

Disclaimer:  เอกสาร/รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งพิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม บมจ.หลักทรัพย์กรุงศรี มิอาจรับรองความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ บทความดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของผู้จัดทำเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน บริษัทฯขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณการต่างๆที่ปรากฏในเอกสาร/รายงานฉบับนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าดังนั้นนักลงทุนโปรดใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในการพิจารณาการลงทุน

โดยบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com