สร้างวินัยการออมผ่านกองทุน SSF

75

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป ดังนั้น ผู้ถือหน่วยจะไม่สามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก แต่การยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีครั้งนี้ไม่ได้เป็นการยกเลิกกองทุนที่มีอยู่ ดังนั้น ผู้ถือหน่วย LTF ยังคงลงทุนในกองทุนดังกล่าวต่อไปได้

ยกเลิกสิทธิภาษี แต่ยังต้องถือ LTF ให้ครบเงื่อนไข

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 รัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้ง LTF และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องถือครองหน่วยลงทุนให้ครบ 5 ปีปฏิทิน -ในปี 2559 รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีจนถึงปี 2562 และปรับปรุงเงื่อนไขการถือครองเป็น 7 ปีปฏิทิน

ดังนั้น ผู้ถือหน่วยที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้ว ยังจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขการถือครองให้ครบ 5 ปีปฏิทิน หรือ 7 ปีปฏิทินแล้วแต่กรณี (เช่น หน่วยลงทุนที่ซื้อในปี 2559 จะสามารถขายได้ในปี 2565)โดยหากขายหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดจะทำให้เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับไปแล้ว และต้องปฏิบัติ ดังนี้

  1. นำเงินภาษีทั้งหมดที่ได้รับการยกเว้นไปคืนให้กับสรรพากร และเสียค่าปรับ 1.5% ต่อเดือน (นับตั้งแต่เดือนที่ได้คืนภาษีจนถึงเดือนที่นำภาษีไปคืน) และ

  1. หากมีกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน ต้องนำเงินกำไรที่ได้ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีที่ขายคืน เพื่อเสียภาษีเงินได้ (ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี)

LTF ในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 3.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.3% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) โดยมีปริมาณเงินเข้ากอง LTF เฉลี่ยต่อปี 2.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.15% ของ market cap

กองใหม่ SSF ได้สิทธิลดหย่อนวงเดียวกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ

 

สิทธิลดหย่อนภาษีของ LTF จะหมดไป แต่รัฐบาลมอบ “ของขวัญ” กล่องใหม่มาแทนที่ นั่นคือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) เพื่อส่งเสริมการออมสำหรับทุกคนรวมถึงผู้เริ่มต้นทำงาน กองทุนใหม่นี้มีนโยบายลงทุนที่หลากหลายไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่หุ้นเท่านั้น จึงเหมาะสมกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้ต้องลงทุนต่อเนื่อง จึงมีความยืดหยุ่นสำหรับผู้ลงทุนที่อาจมีเงินออมไม่แน่นอน โดยผู้ลงทุนจะต้องถือครองหน่วยลงทุนให้ครบ 10 ปี (นับวันชนวัน) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีกอง SSF ออกมาเสนอขายในต้นปี 2563

ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของ SSF ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยจะถูกนับรวมอยู่ในวงเดียวกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันแบบบำนาญ เป็นต้น) ที่กำหนดวงเงินรวมสูงสุดต้องไม่เกิน 500,000 บาท ตัวอย่างเช่น เงินได้ 50,000 บาทต่อเดือน รายได้ต่อปีคือ 600,000 บาทลงทุนใน SSF ได้ 600,000 x 30% = 180,000 บาท

การปรับปรุงสิทธิลดหย่อน RMF

รัฐบาลได้ขยายเพดานการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF จากเดิม 15% เป็น 30% ของเงินได้พึงประเมิน ทำให้ผู้มีรายได้ที่มีศักยภาพสามารถออมได้มากขึ้น ตัวอย่าง เงินได้ 50,000 บาทต่อเดือน รายได้ต่อปี คือ 600,000 บาทลงทุนใน RMF เดิมได้ 600,000 x 15% = 90,000 บาท ใหม่ได้ 600,000 x 30% = 180,000 บาท และเมื่อรวมกับ SSF ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ถึง 360,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกเงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท แต่ผู้ลงทุนยังคงต้องมีการลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน)

ความสำเร็จในการสร้างวินัยการออมของประชาชนผ่านการลงทุนในครั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มองเห็นโอกาสอันดีเพื่อช่วยกันสร้างรากฐานทางการเงินที่มั่นคงให้แก่คนในชาติของเรา

โดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทีมโฆษก และฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน

ที่มา:ฝ่ายสื่อสารและบริการผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

www.mitihoon.com