ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง หลังโอเปกและกลุ่มพันธมิตรปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม

58

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 57 – 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62 – 67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 ธ.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกตกลงที่จะปรับลดการผลิตลง 5 แสนบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 1/2020  โดยกำลังการผลิตใหม่จะอยู่ที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 1.7% ของกำลังการผลิตโลก นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าได้ก่อนวันที่ 15 ธ.ค. ที่สหรัฐฯ จะมีการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติม แม้ว่าล่าสุดทั้งสองประเทศจะมีความขัดแย้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกงและปริมาณสินค้าเกษตรที่จีนต้องทำการนำเข้าจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดจะส่งผลกดดันให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยล่าสุดกำลังการผลิตปรับตัวแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 12.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • การประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร เมื่อวันที่ 5 – 6 ธ.ค. ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย กลุ่มผู้ผลิตปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นปรับลดกำลังการผลิตลง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเริ่มในเดือน ม.ค. 63 และสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 63 เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบ โดยกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรได้เรียกร้องให้ประเทศที่ปรับลดกำลังการผลิตต่ำกว่าปริมาณการผลิตที่ตกลงกันไว้ อาทิ อิรักและไนจีเรียปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับลดลงอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมอีกครั้งในเดือน มี.ค. 63 เพื่อทำการทบทวนนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตอีกครั้ง
  • การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มคืบหน้ามากขึ้นและคาดทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ก่อนวันที่ 15 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สหรัฐฯ จะมีการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตราที่ร้อยละ 15 หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีการเปิดเผยว่าการเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศดำเนินไปด้วยดี แม้ว่าจะมีความขัดแย้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง ทั้งนี้ความคืบหน้าล่าสุดทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงการค้าในระยะที่ 1 อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ คาดจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 พ.ย. ปรับลดลงกว่า 9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นสูงกว่า 464,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้นต่อเนื่องและสร้างความกังวลต่อตลาดน้ำมันดิบ หลังสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักยังคงคุกรุ่น แม้ว่านายกรัฐมนตรีของอิรักจะประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้วก็ตาม สถานการณ์ประท้วงยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มผู้ประท้วงได้จุดเผาไฟเมืองนาจาฟ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอิรัก นอกจากนี้ ความรุนแรงยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในอิรัก โดยหากสถานการณ์ยังมีความรุนแรงมากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบของอิรักได้
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ และ การประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 ธ.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 63.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ปรับลดกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค. 63 ถึงเดือน มี.ค. 63 นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 4.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ปรับตัวสูงมากขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง