ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากสงครามการค้าส่งสัญญาณดี

42

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58 – 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63 – 68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16 – 20 ธ.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากสองประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าขั้นต้นได้ และการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งจะมีผลในเดือน ธ.ค. 62 นี้ถูกยกเลิกไป นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวขึ้น จากตัวเลขการเติบโตภาคแรงงานของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นคาดจะปรับเพิ่มกำลังการกลั่นเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดจะถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีทิศทางดีขึ้น หลังสหรัฐฯ ยกเลิกการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าราว 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเดิมจะมีผลในวันที่ 15 ธ.ค. 62 และลดกำแพงภาษีปัจจุบัน มูลค่าราว 2.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ พอใจต่อข้อตกลงที่จีนจะนำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากสหรัฐฯ มากขึ้น และจะออกกฎที่เข้มงวดขึ้นต่อการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา โดยความคืบหน้าของการเจรจาการค้าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลก

 

  • ความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ (Nonfarm payrolls) ของเดือน พ.ย. 62 ปรับเพิ่มขึ้น 166,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1.5-1.75 โดยให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวแล้ว
  • ปริมาณน้ำมันดิบนำเข้าของจีนคาดปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมันในจีนมีแนวโน้มเร่งดำเนินการผลิตน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี รวมถึงต้องการใช้โควต้าน้ำมันดิบนำเข้าที่ได้จากรัฐบาลในปีนี้ให้หมด โดยปริมาณน้ำมันดิบที่แต่ละบริษัทนำเข้าสุทธิในปีนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลจีนในการกำหนดโควต้าปริมาณน้ำมันดิบนำเข้าในปีหน้า ล่าสุดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน พ.ย. 62 ปรับเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 62 และเป็นปริมาณการนำเข้าที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 12.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับกำลังการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ คาดจะทรงตัวอยู่ที่ราวร้อยละ 90 ล่าสุดสถาบันสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ธ.ค. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 822,000 บาร์เรลแตะระดับ 448 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 5 ปีเฉลี่ย
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ยอดค้าปลีกจีน ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตและการบริการสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 – 13 ธ.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขี้น 0.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 64.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากแรงหนุนของความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่จะลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ส่งผลให้ปริมาณการปรับลดทั้งหมดอยู่ที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในเดือน ต.ค. 61 หรือคิดเป็นร้อยละ 1.7 ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากตัวเลขทางเศรษฐกิจจีน เช่น ตัวเลขการส่งออกสินค้าจากจีนในเดือน พ.ย. 62 ที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

www.mitihoon.com