FSMART ซื้อหุ้นคืน5.63% ช่วง 3 ม.ค.-2 ก.ค.63-พื้นฐานปึก

245

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือ FSMART โดย “นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี”  กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.62 ได้มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน โดยมีจำนวนหุ้นที่ซื้อคืนไม่เกิน 45 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.63% ของจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว ในวงเงินซื้อหุ้นคืน 320  ล้านบาท เริ่มซื้อคืนตั้งแต่ 3 ม.ค.- 2 ก.ค.63

ทั้งนี้เมื่อรวมกับหุ้นที่ซื้อคืนระหว่างวันที่ 8 พ.ค.61 ถึง 8 ต.ค. 61 จำนวน 20 ล้านหุ้น รวมจำนวน 65 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 10% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยมีรายละเอียดตามแบบรายงานการเปิดเผยการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน

ส่วนทิศทางธุรกิจในปี 63 บริษัทตั้งเป้ารายได้โต 5% จากปีก่อน โดยตั้งงบลงทุนไว้ที่ 200 ล้านบาท เพื่อขยายตู้ขายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือและบริการพิสูจน์ตัวตน (e-KYC) รวม 2,000-3,000 ตู้ ซึ่งจะทำให้ปี 63 มีตู้รวมทั้งสิ้น 134,000-135,000 ตู้ จากสิ้นปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 132,000 ตู้

สำหรับธุรกิจใหม่ ที่พึ่งได้รับใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อทั้งสินเชื่อรายย่อยบุคคล นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อจำนำทะเบียน ในช่วงปีแรก บริษัทตั้งเป้ามียอดปล่อยสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มตัวแทนตู้บุญเติม พนักงานของกลุ่มตัวแทน และพนักงานของบริษัทในเครือก่อน สำหรับสาเหตุที่เจาะกลุ่มตัวแทนเนื่องจากมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ รวมถึงบริษัทจะพยายามคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ที่ระดับต่ำไม่เกิน 2% ด้าน “ตู้อัจฉริยะบุญเติม” รูปแบบอื่นๆ เช่น สถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 2-3/63

ส่วนในปี 62 บริษัทปรับลดเป้ารายได้เหลือโต 1-3% จากเดิมโต 5% เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และได้รับใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อล่าช้า อย่างไรก็ดีช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทจะเพิ่มบริการใหม่ๆบนตู้บุญเติม เพื่อผลักดันให้ลูกค้ามาใช้บริการผ่านตู้บุญเติมเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการเพิ่มบริการรับฝากเงินสด-โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์เพิ่มอีก 2 ราย จากปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ธนาคาร คือ KTB  KBANK  BAY และธนาคารออมสิน

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเพิ่มบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การขายสลากออมทรัพย์ การขายประกันอุบัติเหตุ และอื่นๆด้วย  ล่าสุดสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นธุรกิจเติมเงิน 70% จากปัจจุบันอยู่ที่ 80% และธุรกิจอื่นๆ รวมปล่อยสินเชื่อ 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20%

www.mitihoon.com