มิติหุ้น – นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมกราคม 2563 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนคาดหวังการนโยบายภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด และกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและสถานการณ์การเมือง เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมกราคม 2563 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
· ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มีนาคม 2563) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neural) (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) โดยลดลง 8.17% มาอยู่ที่ระดับ 80.75
· ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
· ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
· ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
· ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
· หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการแพทย์ (HELTH)
· หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
· ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายภาครัฐ
· ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
“ผลสำรวจ ณ เดือนธันวาคม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน โดยกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงมาอยู่ที่เกณฑ์ซบเซาจากเกณฑ์ทรงตัวในเดือนก่อน กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลงโดยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ซบเซาเช่นเดิม
ในช่วงเดือนธันวาคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เคลื่อนไหวในช่วง 1548-1579 จุด โดยดัชนีปรับตัวลดลงในครึ่งเดือนแรกมาอยู่จุดต่ำสุดที่ 1548 จุด จากนั้นทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่บริเวณ 1570-1580 ในช่วงปลายเดือน โดยได้รับผลดีจากผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 ที่เป็นไปได้ด้วยดี ขณะที่นักลงทุนคาดหวังแรงซื้อ LTF ในช่วงปลายปี แม้ว่าตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือความคาดหวังนโยบายภาครัฐ รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่นักลงทุนยังกังวลความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ทางการเมือง สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ภาวะเศรษฐกิจจากผลเจรจาทางการค้าภายหลังข้อตกลงทางการค้าขั้น 1 เป็นไปด้วยดีและแนวโน้มการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในขั้นที่ 2 ทิศทางของ BREXIT ที่มีแนวโน้มให้อังกฤษออกจาก EU แบบได้ข้อตกลงทันเส้นตายภายหลังการเลือกตั้ง ทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและอียูที่แนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในปี 2563 ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลปี 2563 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาการส่งออกจากค่าเงินบาทแข็งค่าที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และนโยบายทางการเงินของธปท. ในปี 2563 เป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม”
www.mitihoon.com