แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2020 – ยังต้องระมัดระวังต่อไป(10/01/2563)

557

เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเดือนแรกของการซื้อขายปี 2020 ทางหลักทรัพย์กรุงศรีจึงจะพูดถึงความคาดหมายในปีนี้สักเล็กน้อย ตัวเลขเศรษฐกิจที่แกว่งตัวดีขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลงจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่คลี่คลายลงไป ซึ่งจากประมาณการล่าสุดของ IMF ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น +3.4% yoy ในปี 2020 จากแค่ +3% (ประมาณการ) ในปี 2019 ซึ่งประเด็นเด่นก็คือปริมาณการค้าโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.2% yoy จากแค่ +1.1% (ประมาณการ) ในปี 2019 ซึ่งหมายความว่าตลาดโลกน่าจะอยู่ในโหมด risk-on ต่อเนื่องในเดือนถัด ๆ ไป (ยกเว้นประเทศไทย) ตราสารหนี้จะ underperform หุ้น เพราะอัตราผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าตลาดสหรัฐฯ และจีนน่าจะปรับตัวได้ดีจากภาวะความตึงเครียดทางการค้าที่คลายตัวลง แต่เรายังคงแนะนำให้จับตาดูตลาดยุโรป เพราะเศรษฐกิจทางนั้นกำลังเริ่มมีโมเมนตั้ม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือกลุ่มยานยนต์ ซึ่งแสดงการฟื้นตัวอย่างชัดเจนที่สหรัฐฯ และจีนในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา และหากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไป ยุโรปก็จะเป็นภูมิภาคที่ได้อานิสงส์เต็ม ๆ

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นตัวนำในกลุ่มประเทศ G4 โดยจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงที่สุดถึงแม้ IMF จะคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2020 จะชะลอลงเหลือแค่ +2.1% yoy จาก +2.4% ในปี 2019 แต่ที่น่าสนใจก็คือ เศรษฐกิจยุโรป ซึ่งอาจจะเป็นดาวรุ่งในปี 2020 โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นเป็น +1.4% จาก +1.2% ในปี 2019 สอดคล้องกับมุมมองของเราที่แนะนำให้จับตาดูยุโรปในปี 2020 ซึ่ง ณ จุดนี้ เราพบว่ามีสี่ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปในปี 2020: (i) สภาวะทางการเงินที่เอื้ออำนวย (ii) แรงสนับสนุนจากนโยบายการคลัง (iii) แรงส่งจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และ (iv) แรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของ emerging market ในขณะเดียวกันเราเชื่อว่าผู้กำหนดนโยบายของจีนจะสามารถคุมให้เศรษฐกิจจีนปีนี้โตได้อย่างมั่นคงที่ระดับ 6.0% – 6.5% เนื่องจากยังมีกระสุนสำหรับดำเนินนโยบายตุนอยู่อีกอย่างเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าเป้าหมายหลักของจีนจะอยู่ที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าการกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงญี่ปุ่นไปจนกว่าจะเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนจากการขึ้นภาษีการบริโภคซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ทั้งนี้ เราคิดว่านโยบายการคลังที่เพิ่งนำออกมาใช้อาจจะยังไม่พอที่จะกระตุ้น GDP เพราะนโยบายกระตุ้นที่ออกมาส่วนหนึ่งเป็นการสนับสนุนให้มีการซื้อที่ดินซึ่งจะไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวของ GDP โดยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าการกระตุ้นโดยนโยบายการคลังจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจปี 2020 โตเพิ่มได้ประมาณ 0.5%

 

ในขณะที่เราคาดว่าการฟื้นตัวของการค้าโลกจะช่วยหนุนการส่งออกของไทยในปี 2020 แต่ผลบวกที่เกิดขึ้นก็อาจจะถูกกลบด้วยอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวแค่ 2.8% yoy ในปี 2020 ซึ่งต่ำกว่าเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม ASEAN-5 ซึ่งคาดว่าจะโตถึง 4.0% -6.5% yoy แต่เนื่องจากประเด็นการค้าโลกก็ส่งผลกับประเทศพวกนี้เช่นกัน ดังนั้นปัจจัยที่ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่างกันก็คืออุปสงค์ในประเทศ ทั้งนี้จากรายงานเศรษฐกิจรายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลงอย่างน่าตกใจในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนลดลงเหลือแค่ +1.2% yoy ใน 3Q19 จาก +4.6% ในปี 2018 และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาก็ส่งผลต่อการบริโภคเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การจับจ่ายใช้สอยที่ยังคงเป็นตัวช่วยพยุงการบริโภคเอาไว้คือ การจับจ่ายใช้สอยในภาคบริการ (ท่องเที่ยว) ซึ่งขยายตัว 2.1% ใน 3Q19 (จาก +5.3% ในปี 2018) ที่น่าตกใจมากกว่าก็คือการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงถึง 3.1% yoy ใน 3Q19 จาก +3.5% ในปี 2018 และยังไม่สัญญาณการฟื้นตัวในขณะนี้ โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียงแค่ 63.2% (เดือนพฤศจิกายน) ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนในช่วงเดียวกัน (หลังปรับผลของเงินเฟ้อ) ลดลง 4.2% ซึ่งแสดงถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีเพิ่มมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เราคิดว่าสิ่งสำคัญก็คือรัฐบาลจะต้องหาวิธีเร่งรัดการเบิกจ่ายแบบ fast-track เพื่อเร่งการลงทุนภาครัฐ นอกจากนี้ยังต้องริเริ่มดำเนินนโยบายที่น่าเชื่อถือ และเกิดขึ้นได้จริงเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของสาธารณชน ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เรามองว่ามีโอกาสสูงที่เงินเฟ้อจะชะลอลงไปอีกในปี 2020 ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

Disclaimer:  เอกสาร/รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งพิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม บมจ.หลักทรัพย์กรุงศรี มิอาจรับรองความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ บทความดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของผู้จัดทำเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน บริษัทฯขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณการต่างๆที่ปรากฏในเอกสาร/รายงานฉบับนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าดังนั้นนักลงทุนโปรดใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในการพิจารณาการลงทุน

โดยกรุงศรีทอล์ก

www.mitihoon.com